ต้องปราบไม่เลิก

scammer
บทบรรณาธิการ

แอปพลิเคชั่น Whoscall ที่พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ เปิดรายงานประจำปี 2567 ระบุว่า ในปี 2567 สามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง มิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้หลอกลวง กลโกงซับซ้อนมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตา ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น โทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงที่สูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย การโทร.หลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 เพิ่มขึ้น 85% ขณะที่จำนวน SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 123%

รายงานยังระบุว่า กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน หลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน และการหลอกว่าเป็นหนี้ และพบว่า มีข้อความ SMS เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง เป็นตัวบ่งชี้ว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลอกลวงข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิ่ง หรือการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูล จนถึง SMS หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด

นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนมาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า ส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัลวอลเลต ผลการวิเคราะห์พบว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็นอีเมล์ และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูล เช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวของ ครม. ซึ่งเริ่มเน้นการปราบปรามแก๊งคอลทางชายแดนด้านตะวันออก ที่อรัญประเทศ สระแก้ว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยว่า ได้สรุปการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขณะนี้ได้ซีลชายแดนทั้ง 14 จังหวัด ด้วยความร่วมมืออย่างดีจากจีน และเมียนมา

ไทย จีน เมียนมา ได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาพูดคุยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังคงร่วมกับ กสทช. ตำรวจสอบสวนกลาง และบริษัทโทรคมนาคม รื้อถอนเสาสัญญาณใกล้ชายแดน ลดความสูงและความแรงของสัญญาณ หันหน้าสัญญาณเข้าสู่ชายแดนไทย ตัดสัญญาณซิมบอกซ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ตัดเบอร์เครือข่าย สัญญาณที่ใช้บริการสูงเกินกว่าความจำเป็น จนเป็นที่น่าสงสัย ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายขายสัญญาณ และในวันที่ 28 ก.พ. นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เพื่อดูปัญหานี้ด้วยตัวเอง ซึ่งน่าจับตาว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการใดดำเนินการ