กนง.ยอมลดดอกเบี้ย 0.25%

กนง.ยอมลดดอกเบี้ย 0.25%
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เป็นที่น่ายินดีว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25% จากร้อยละ 2.25% เป็นร้อยละ 2 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ กนง.พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินเอาไว้ จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ รวมไปถึงความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อล่าสุดก็พบว่า มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินเอาไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย (1-3%) และไม่ได้มีสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินฝืด หรือภาวะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง

ภาวะการเงินตึงตัว แม้การขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณของการทรงตัว ดังนั้นด้วยเหตุผลข้างต้นกรรมการทั้ง 6 คน จึงเห็นควรให้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ก็มีกรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

ส่วนแนวโน้มต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อไป โดยคณะกรรมการจะติดตามแนวโน้มของเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไปด้วย

สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้แนะนำให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อ และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้หนี้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยคาดว่า ในปีนี้ GDP ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 % จากปัจจัยการขยายตัวของนโยบายการคลัง ตามโครงการกระตุ้นกำลังซื้อ 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลต่อ 0.1 ของ GDP และยังมีการลงทุนจากภาครัฐ การท่องเที่ยว การบริโภคของภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากมาตรการแจกเงินของรัฐบาลด้วย

ADVERTISMENT

มีคำอธิบายตามมาว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ ไม่ได้มาจากความกดดันทางการเมือง แต่ก่อนหน้านี้ ครม.ได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ความเห็นถึงนโยบายการเงิน แม้จะต้องคำนึงถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% แต่ก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายการคลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเรียกร้องให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอดเช่นกัน