
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุมเมื่อ 3 มี.ค. พิจารณาการคัดเลือก สว.ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม อาจเป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ร.ต.อ.สุรวุฒิแถลงผลว่า
กรรมการทุกคนเห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า มีความผิดอาญาเกิดขึ้นตาม ป.อาญา มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ก)-(จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ต้องนำเสนอต่อบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 6 มี.ค. เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษ ด้วยเหตุจาก 2 กรณี คือ 1.ความผิดทางอาญาจากพฤติกรรมอั้งยี่ และการได้มาซึ่ง สว. ตามมาตรา 77 (1) 2.คือความผิดฐานฟอกเงิน อยู่ในอำนาจของ กคพ.จะรับเป็นคดีพิเศษ การจะรับหรือไม่รับ ใช้มติ 2 ใน 3 ของบอร์ด กคพ.
การเข้ามาสอบสวนการเลือก สว. ของดีเอสไอ ทำให้ สว.ไม่พอใจและโต้แย้งว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. มิใช่ดีเอสไอ และเข้าชื่อเสนอประธานวุฒิสภา ให้ไต่สวน รมว.ยุติธรรม และอธิบดีดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม ได้มีกลุ่มตัวแทนผู้สมัคร สว. ยื่นเรื่องให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สอบจริยธรรม สว. ดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ให้สัมภาษณ์กล่าวหาโจมตีกัน และเปิดเผยข้อมูลการเลือก สว.หลายเรื่อง
รวมถึงการระบุว่า ผู้สมัครได้นำโพยติดตัวเข้าไปในวันเลือก มีผู้พบเห็นและได้ร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในคืนวันเลือก แต่ไม่เป็นผล และต่อมาในวันที่ 4 มี.ค. วุฒิสภา ได้ประชุมพิจารณาญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี สว.อภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของดีเอสไอหลายประการ
วุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ การได้มาและบทบาทของ สว. มีผลต่อความเชื่อมั่นในระบบการเมืองและกฎหมายของประเทศ การเลือก สว.มีการร้องเรียนทั้งต่อ กกต. และดีเอสไอว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า กกต.หรือดีเอสไอคือผู้มีอำนาจสอบสวน ผู้ร้องเรียนระบุว่าการสอบสวนล่าช้า จึงมาร้องดีเอสไอ ที่มีอำนาจสอบความผิดทางอาญา เป็นภาพสะท้อนการทำงานของหน่วยงานที่น่าจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อยืนยันความโปร่งใสของการเลือก ทุกฝ่ายควรสนับสนุนการตรวจสอบในวิถีทางของกฎหมายในทุกทางที่เป็นไปได้ หากพบว่ามีปัญหาในกระบวนการเลือก จะได้นำไปสู่การปรับปรุงกฎกติกาหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป