
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เผยถึงแนวทางการกำกับดูแลปัญหาปากท้องและการส่งออก เพื่อขับเคลื่อนจีดีพี 3.5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดกำลังไปด้วยดี ผ่านเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ใน 4 ตัว เครื่องจักรแรก ภาคส่งออก ปีที่ผ่านมาเติบโต 5.4% สูงกว่ากระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้โต 1-2% ขึ้น เดือนมกราคม 2568 สัญญาณดีขึ้น และส่งออกเติบโต 13.6% เป็นการเติบโตต่อเนื่อง 7 เดือน
เชื่อว่าปี 2568 ภาคส่งออกยังเป็นกลไกหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ภาคส่งออกจะเชื่อมโยงกับภาคลงทุน อันเป็นอีกเครื่องจักรเศรษฐกิจ ถ้าลงทุนมากขึ้นอนาคตส่งออกจะมากขึ้นตาม ปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนถึง 1.4 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และหลายโครงการจะเสร็จภายในปี 2568 นี้ จะเริ่มต้นผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าปีนี้การลงทุนจะมากขึ้นอีก บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด ก็ประกาศลงทุนในไทย 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท อีกเครื่องจักรภาคท่องเที่ยว ปีก่อนต่างชาติมาเที่ยวไทย 36 ล้านคน ปีนี้คาดว่าถึง 39 ล้านคน สะท้อนกลไกทางเศรษฐกิจที่เดินไปได้
รมว.พาณิชย์ชี้ว่า ที่ยังพูดกันว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ดีมาจากหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% หากรวมกับหนี้นอกระบบอาจเกิน 100% หาเงินได้เท่าไหร่ต้องใช้หนี้เกือบหมด เงินใช้จ่ายจำกัด การบริโภคน้อย อยากซื้อรถยนต์ รถกระบะ หรือซื้อที่พักอาศัยก็ติดที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เป็นเรื่องกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเร่ง Activity ให้ธนาคารปล่อยกู้ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
รวมถึงต้องดูแลในเรื่องค่าเงินบาทด้วย ตอนนี้ไทยแข็งค่ากว่าประเทศในอาเซียน เมื่อเงินเราแพง การค้าขายก็ยากขึ้น สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้ ต้องเติมเงินเข้าระบบ จะเติมอย่างไร สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ด้านหนึ่งคือต้องหาเงินจากต่างประเทศเข้ามาเติม ผ่านการส่งออก ทำให้ตนเองต้องออกไปเจรจาเพิ่มการค้า และเจรจาเพิ่มเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จากเมื่อ 10 ปีก่อนไม่ได้เจรจาเลย
รมว.พาณิชย์ย้ำความสำคัญของการเจรจากับต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องเอฟทีเอหรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี เวียดนามลงนามกับ 56 ประเทศ ไทยจะมีกับ 51 ประเทศ เมื่อเจรจาสำเร็จจะเพิ่มทั้งการค้าและการลงทุน
อีกด้านที่พาณิชย์ต้องดูแลคือ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าเกษตรปี 2568 อาจไม่ดีเท่าปี 2567 เป็นปีที่ขายได้ราคาดีมาก อย่างข้าวปีนี้เจอปัญหาอินเดียกลับมาส่งออก รัฐบาลต้องช่วยเหลือเกษตรกร สนับสนุนเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครอบครัว เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ส่วนในระยะยาวต้องทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน จัดโซนนิ่งปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มรายได้ ขายได้ ยึดหลักการตลาดนำการผลิต
การเพาะปลูกข้าวไทย อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณหลายเรื่องดีขึ้น แต่ในด้านที่เป็นปัญหาก็ยังต้องรับมือกันต่อไป รวมถึงปัญหาจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ที่ต้องดำเนินการเจรจากันต่อไป