
คอลัมน์ : มองข้ามชอต ผู้เขียน : ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
แม้นโยบายเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านของทรัมป์จะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่สิ่งหนึ่งที่มีความแน่นอนคือ ทรัมป์ต้องการลดบทบาทของสหรัฐในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวออกจากความตกลงปารีส การมุ่งส่งเสริมเชื้อเพลิงฟอสซิล และการยกเลิกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การยกเลิกเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การยกเลิกการใช้หลอดกระดาษให้กลับมาใช้หลอดพลาสติก
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐจะถอยหลังในเรื่องเหล่านี้ แต่แนวโน้มความยั่งยืนของโลกยังคงเดินหน้าต่อไป และธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน
SCB EIC เชื่อว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจไทยในอนาคต โดยมีสามเสาหลักที่ยังคงขับเคลื่อนเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืนของโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
เสาที่ 1 : ผู้บริโภคที่ตื่นตัวกับประเด็นความยั่งยืน จากผลสำรวจของ Euromonitor ในปี 2024 พบว่า 26.5% ของผู้บริโภคทั่วโลกเป็น “Green Spenders” หรือผู้ที่ยินดีจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของวิกฤตโลกร้อนและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
โดยข้อมูลจาก Bain & Company ในปี 2024 ชี้ให้เห็นว่า 40% ของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้ายั่งยืนในหลายประเทศ เกิดจากการได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับผลสำรวจของ SCB EIC ในปีเดียวกันที่พบว่า 47% ของผู้บริโภคไทยที่ซื้อสินค้ายั่งยืนมีแรงจูงใจมาจากการรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เสาที่ 2 : หน่วยงานกำกับและรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ยังคงให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แม้ทรัมป์จะลดบทบาทของรัฐบาลกลางสหรัฐในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่รัฐและเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในสหรัฐยังคงเดินหน้าดำเนินนโยบายของตนเอง เช่น ในเดือนธันวาคม 2024 รัฐนิวยอร์กประกาศใช้กฎหมายเรียกเก็บค่าปรับจากบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน
ขณะที่สหภาพยุโรปยังเดินหน้าตั้งกำแพงภาษีคาร์บอน (CBAM) และยังคงยืนยันที่จะเป็นผู้นำการลดก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่เป้าหมายหมาย Net Zero โดยผู้นำ EU ได้รับรองปฏิญญาบูดาเปสต์ในเดือนพฤศจิกายน 2024 เพื่อยืนยันเป้าหมายนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลทั่วโลกยังคงเข้มงวดกับประเด็นด้านสังคม เช่น EU ที่ยังใช้มาตรการห้ามนำเข้าปลาจากประเทศที่มีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และสหรัฐที่เพิ่งประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจาก 37 บริษัทจีนที่ละเมิดสิทธิแรงงาน
สำหรับไทยเอง รัฐบาลและหน่วยงานกำกับกำลังดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนหลายด้าน เช่น การเตรียมออก พ.ร.บ.โลกร้อนในช่วงปี 2025-2026 และการออกกฎหมายยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2025 เป็นต้น
เสาที่ 3 : ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องจัดการความเสี่ยงจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจาก PwC (PricewaterhouseCoopers) ในปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า 55% ของ GDP โลกมาจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับปานกลางถึงสูง เช่น เกษตรกรรม อาหาร และก่อสร้าง ซึ่งหากปัญหาโลกร้อนและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติรุนแรงขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
บริษัทหลายแห่งจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เนสท์เล่มีเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบจากพื้นที่เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูเป็น 50% ภายในปี 2030 ซึ่งธุรกิจในไทยเองก็ไม่ต่างกัน
โดยการประเมินของ PwC ในปี 2024 พบว่า 61% ของมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาจากธุรกิจที่พึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางถึงสูง
ซึ่งหมายความว่าหากภาคธุรกิจไทยไม่เร่งจัดการความเสี่ยงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็อาจเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงในอนาคต
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า แม้ทรัมป์จะกลับมา แต่แรงขับเคลื่อนเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืนของโลกยังมีอยู่มาก
โดยสิ่งที่น่ายินดีคือ บริษัทไทยหลายแห่งได้เริ่มปรับการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง สะท้อนได้จากในปี 2024 มีบริษัทไทย 26 บริษัทติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งให้การรับรองความโดดเด่นด้านความยั่งยืนของบริษัทชั้นนำทั่วโลก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลคือ บริษัทไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เริ่มปรับตัว โดยจากการสำรวจของ SCB EIC ในปี 2024 พบว่า 75% ของ SMEs ขนาดจิ๋ว และ 62% ของ SMEs ขนาดเล็กยังไม่มีแผนในการปรับตัวด้านความยั่งยืน จากข้อจำกัดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน ความกังวลว่าต้นทุนจะสูงขึ้น และการขาดแคลนเงินทุน
จากประสบการณ์ของลูกค้า SCB ที่ปรับตัวได้สำเร็จ SCB EIC เสนอ 3 แนวทางเพื่อให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ ดังนี้
1) “ตีโจทย์ให้แตก” ธุรกิจต้องรู้ให้ชัดว่าโจทย์ความยั่งยืนที่แท้จริงของบริษัทคืออะไร
2) “ร่วมแรงกันทำ” บริษัทต้องผนวกความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์หลักของธุรกิจ และการดำเนินงานของในทุกฝ่ายขององค์กร พร้อมทั้งร่วมมือกับซัพพลายเออร์ คู่ค้า ชุมชน และพันธมิตรอื่น ๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
3) “นำเทคโนโลยีมาใช้” โดยเทคโนโลยีมีศักยภาพที่หลากหลายในการช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน เช่น การใช้ IOT และ Smart Systems เพื่อติดตามการใช้พลังงานและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น
การกลับมาของทรัมป์อาจชะลอการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนของสหรัฐ แต่แนวโน้มระดับโลกยังคงเดินหน้าต่อ ธุรกิจไทยที่ไม่ปรับตัวอาจพบว่าตัวเองถูกลูกค้าทิ้ง คู่แข่งแซง และเสียโอกาสทางการตลาด
ดังนั้น ธุรกิจที่ยังไม่ลงมือทำอะไรเกี่ยวกับความยั่งยืนควรเริ่มดำเนินการทันทีจากสิ่งใกล้ตัว เพราะการเริ่มต้นแม้จะมีความเสี่ยง แต่การไม่เริ่มเลยรับรองได้ว่า “พ่ายแพ้อย่างแน่นอน” ในโลกที่กำลังมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน
คุณพร้อมหรือยังที่จะก้าวเดินบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงให้ธุรกิจและ คนรุ่นหลัง ?