“Gatekeeper ผู้เฝ้าประตู” เสริมตลาดทุนเข้มแข็ง

“Gatekeeper ผู้เฝ้าประตู” เสริมตลาดทุนเข้มแข็ง
คอลัมน์ : เล่าให้รู้กับ ก.ล.ต.
ผู้เขียน : อาชินี ปัทมะสุคนธ์ สำนักงาน ก.ล.ต.

ในช่วงที่ผ่านมา หากหลายท่านได้ติดตามการแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ในระยะ 3 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี 2568-2570 ในช่วงหนึ่งของการแถลงแผน อาจได้รับฟังเสวนาหัวข้อ “พลิกโฉมตลาดทุน โอกาสและความท้าทาย” ซึ่งร่วมให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามโดยผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ทั้งด้านการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมให้ระบบนิเวศตลาดทุนเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการในตลาดทุนให้เกิดความโปร่งใส โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริม Trust & Confidence ที่ ก.ล.ต. มุ่งมั่นเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากเวทีเสวนา คือ “แผนการยกระดับการป้องกันการทุจริตในตลาดทุน” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของกลไกที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสให้กับตลาดทุน และหนึ่งในนั้นคือ “Gatekeeper” หรือ “ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน”

ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันการกระทำผิด เช่น ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้ประเมินราคาสำหรับธุรกรรมในตลาดทุน องค์กรจัดอันดับเครดิต ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 2565 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในหลายมิติอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง โดยการใช้กลไกป้องกัน 3 ชั้น หรือ 3 Lines of Defense ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

รวมถึงบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ เพื่อนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ให้ดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยหนึ่งในหัวข้อสนทนาที่มักถูกกล่าวถึงเสมอ ๆ คือ การทำหน้าที่ของ Gatekeeper ว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ด้วยบทบาทของ Gatekeeper ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความโปร่งใสในตลาดทุน อย่างเช่น FA ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ บจ. วิเคราะห์โครงสร้างทางการเงินและช่วยบริหารความเสี่ยง ผู้สอบบัญชี ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ บจ. เปิดเผยมีความถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีเพื่อการป้องกันข้อมูลที่บิดเบือน เช่น รายงานผลประกอบการที่ไม่เป็นความจริง เป็นต้น

ADVERTISMENT

ขณะที่ผู้ประเมินราคา มีหน้าที่จัดทำรายงานประเมินมูลค่าเพื่อเป็นข้อมูลให้ FA หรือผู้สอบบัญชี สอบทานการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และบริษัทพัฒนาสังหาริมทรัพย์ หรือ บจ. ที่จะเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน เป็นต้น หรือแม้แต่การทำหน้าที่ของ องค์กรจัดอันดับเครดิต ที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงของตราสารหนี้และหุ้น เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วน และเป็นกลางในการตัดสินใจลงทุน

ภาพที่จะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 คือ การยกระดับการทำงานของ Gatekeeper เพื่อลดโอกาสในการกระทำผิด โดย ก.ล.ต. มีแผนดำเนินการใน 2 ส่วน คือ ปรับมาตรฐานการทำงานของ FA และส่งเสริมบทบาทของผู้ตรวจสอบภายใน

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะการดำเนินการปรับมาตรฐานการทำงานของ FA การบังคับใช้กฎหมายกับ FA ที่กระทำผิด เพราะ FA ถือว่ามีส่วนสำคัญในการคัดกรองบริษัทที่จะยื่นคำขอ IPO เสนอขายแก่ประชาชน การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสะท้อนถึงความโปร่งใส

ก.ล.ต. จึงมีแนวทางในการออกกฎเกณฑ์และจัดทำระบบการให้ความเห็นชอบทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพงานของ FA การปรับปรุงมาตรฐานหรือคู่มือการปฏิบัติงาน รวมถึงค้นหาผลงานและประวัติของ FA อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. จะหารือกับชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และเปิดรับฟังความเห็นก่อนจะประกาศกฎเกณฑ์

สำหรับการส่งเสริมการทำหน้าที่ของผู้ตรวจสอบ ก.ล.ต. มีแผนให้บริษัทที่จะยื่นขอ IPO จะต้องมีระบบควบคุมภายใน และมีผู้ตรวจสอบการควบคุมภายใน โดย ก.ล.ต. จะกำหนดคุณสมบัติและออกแนวปฏิบัติที่ดีและจัดทำแผนพัฒนาวิชาชีพและออกหลักเกณฑ์ให้บริษัทที่จะเสนอขายหุ้น IPO มีผู้ตรวจสอบภายในที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงานกำหนด

ดังนั้น Gatekeeper จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการเสริมสร้างให้ บจ. เข้มแข็งและโปร่งใส การปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและมีมาตรฐานสูงจะช่วยสร้างระบบนิเวศเอื้อต่อความโปร่งใสในตลาดทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ลดความเสี่ยงด้านทุจริตและส่งเสริมให้ บจ. ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลยิ่งขึ้น สร้างตลาดทุนที่เติบโตอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว