การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในคดี “ล้มละลาย”

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย นภัสวรรณ สันติสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดน่าน ที่มา : กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

กระบวนการการยุติธรรมทางเลือก หรือการระงับข้อพิพาทในชั้นศาล ถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้แก่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศไทย ตลอดช่วงประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา กระบวนการระงับข้อพิพาทที่ถูกนำมาใช้กับคดีแพ่ง มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1.กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นตัวกลางในการช่วยเจรจา มีการบัญญัติเบื้องต้นไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850-852 นอกจากนี้ ยังมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 และ 20 ทวิ กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการไกล่เกลี่ยทุกขั้นตอน และมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 กำหนดให้คู่ความตกลงกันได้ หากไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

2.กระบวนการอนุญาโตตุลาการ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 210-222 ได้กำหนดช่องทางในการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ หรือประนีประนอมหากมีการร้องขอจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคู่กรณียินยอม

ข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้และเหมาะสำหรับการไกล่เกลี่ย ได้แก่ ข้อพิพาททางแพ่งทั่วไป ข้อพิพาทในทางการค้าพาณิชย์ ข้อพิพาทในทางอาญาในบางเรื่องที่สามารถยอมความกันได้ และข้อพิพาทอื่น ๆ เช่น ข้อพิพาทแรงงาน ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สำหรับข้อพิพาทในคดีล้มละลายนั้น เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นรากฐานของกฎหมายพาณิชย์และกฎหมายทางการเงิน เป็นกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ที่ให้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งทางแพ่งและอาญาในการจัดการกับ

ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว คดีล้มละลายก่อให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ในทางกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ ทรัพย์สินถูกยึดและอายัดเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย สัญญาต่าง ๆ ถูกยกเลิก หรือทำให้ธุรกิจชะงัก ประโยชน์อันเกี่ยวกับหลักประกันต้องยุติลง หรือยกเลิก หรือมีมูลค่าต่ำลง ประชาชนตกงาน เศรษฐกิจประเทศอ่อนแอลง คดีล้มละลายจึงต้องมีระบบการเก็บรวบรวมทรัพย์สิน จัดการกองทรัพย์สินลูกหนี้ ส่งผลให้ลูกหนี้หมดอำนาจจัดการทรัพย์สิน ตามมาตรา 24 อำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำต้องวินิจฉัย ชี้ขาดเรื่องต่าง ๆ

ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คำสั่งทวงหนี้ตามมาตรา 119 คำสั่งปฏิเสธสัญญา ที่มีภาระเกินควรตามมาตรา 122 คำสั่งร้องขัดทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 158 คำสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ ตามมาตรา 113-115 เป็นต้น คำสั่งเหล่านี้จะกระทบสิทธิ ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และบุคคลภายนอก จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงการโต้แย้ง คัดค้าน มักจะมีคดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล โต้แย้ง คัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นสำนวนคดีสาขาต่าง ๆ อยู่เสมอ

แม้วัตถุประสงค์สำคัญของกฎหมายล้มละลายต้องการรวบรวมทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้เข้าสู่กองทรัพย์สินในคดีล้มละลายให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาจำหน่ายแบ่งปันให้เจ้าหนี้ แต่กฎหมายล้มละลายยังคงมีมาตรการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ที่สุจริตหลุดพ้นจากหนี้สินโดยเร็ว เช่น การประนอมหนี้ การปลดจากล้มละลาย ยกเลิกการล้มละลาย กระบวนการประนอมข้อพิพาทในระบบศาลล้มละลายกลาง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเยียวยาลูกหนี้ภายใต้ “ระเบียบศาลล้มละลายกลางว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2558” ศาลล้มละลายกลางได้นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ระงับข้อพิพาทกับคดีล้มละลายเฉพาะคดีสาขา ได้แก่ เพิกถอนการฉ้อฉล มาตรา 90/40, 113 เพิกถอนการกระทำอันทำให้เจ้าหนี้รายใดได้เปรียบ มาตรา 90/41, 115 ทวงหนี้ มาตรา 90/39, 119 ร้องขัดทรัพย์ มาตรา 158 ข้อปฏิบัติตามสัญญา มาตรา 90/41 ทวิ, 122 คดีแพ่งเกี่ยวพันคดีตามกฎหมายล้มละลาย หรือคดีที่คู่ความร้องขอและอธิบดีเห็นสมควร

เพื่อให้การบังคับคดีล้มละลายสำเร็จลุล่วงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายของไทย มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานสากล ภายใต้รายงาน Ease of Doing Business 2018 โดย World Bank การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ไทยอยู่ในลำดับที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย (resolving insolvency) มีผลคะแนนที่ดีขึ้นมาจากอัตราการรวบรวมทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าหนี้ได้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 68 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ฉะนั้น จึงควรมีมาตรการเร่งรัดคดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดีสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาคดีในชั้นศาลนาน บางคดีใช้เวลาหลายปี

หากจะมีการนำระบบการไกล่เกลี่ยตามระเบียบศาลล้มละลายกลาง พ.ศ. 2558 มาใช้อย่างจริงจังให้มากขึ้น ก็จะเป็นช่องทางให้คู่ความสามารถเลือกใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในชั้นศาล จะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความ และกระบวนการพิจารณาของศาล

ทำให้คู่ความได้รับความสะดวกรวดเร็ว เป็นธรรม ประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญทำให้การรวบรวมทรัพย์สินรวดเร็วขึ้น ทำให้คดีล้มละลายเสร็จลุล่วง แต่ทั้งนี้การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้กับคดีสาขานั้น ควรมีข้อพึงพิจารณา ดังนี้

1.อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 22 แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ก็หาใช่อำนาจหน้าที่แต่โดยลำพัง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีบทบาทเป็นคนกลางระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ดูแลทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย สะท้อนให้เห็นสถานะของผู้ดำเนินการจัดการทรัพย์สิน ว่ามีลักษณะเป็นผู้แทนหรือตัวแทนเจ้าหนี้ สอดรับกับมาตรา 145 บัญญัติไว้ว่า “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำการต่อไปนี้ได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้แล้ว

(1) ถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย

(2) โอนทรัพย์สินใด ๆ นอกจากโดยวิธีขายทอดตลาด

(3) สละสิทธิ์

(4) ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หรือฟ้องหรือถอนฟ้องคดีล้มละลาย

(5) ประนีประนอมยอมความ หรือมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย”

กิจการดังกล่าวมีลักษณะไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำต้องพิจารณาถึงส่วนได้เสียของกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นสำคัญอย่างรอบคอบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามมาตรา 41 ก่อน

2.ลักษณะของคดี

กรณีที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้นั้น ต้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หากเป็นเพียงคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่มิใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 145 ก่อน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3264/2525 นอกจากนี้ มาตรา 25 ยังได้บัญญัติไว้ว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์…” จากบทบัญญัติมาตรา 25 นี้ย่อมมีความแตกต่างจากมาตรา 145 (4) ในประเด็นที่ว่า มาตรา 25 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางใดก็ได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่อยู่ในบังคับมาตรา 145 (4) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ก่อน เนื่องจากมาตรา 25 เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย แต่ถ้าหากเป็นกรณีเริ่มต้นฟ้องคดีใหม่ หรือถอนฟ้องในคดีที่จำเลยได้ยื่นฟ้องไว้แล้ว จึงจะอยู่ในบังคับ มาตรา 145 (4) ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4230/2548

3.ความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้

เมื่อกิจการตาม มาตรา 145 ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อน จึงควรมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อขอมติที่ประชุมไว้ล่วงหน้าในการให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลเกิดความคล่องตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

การนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือประนอมข้อพิพาทมาใช้กับคดีสาขาของคดีล้มละลายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะส่งเสริมให้การรวบรวมจัดกิจการทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจัดสรรแบ่งเฉลี่ยให้แก่บรรดาเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม ทำให้การดำเนินการตามกฎหมายล้มละลายมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลได้มาตรฐานสากล มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ