มหากาพย์… ‘แก้หนี้’

หนี้ครัวเรือน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการ “สะสาง” เชื่อว่าทุกคนคงเห็นไม่แตกต่างกัน เพราะยิ่งหนี้สูง ยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจ ฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศ

เปรียบไปก็เหมือนคนถูกจองจำ ถูกพันธนาการเอาไว้ เห็นเพื่อน ๆ ออกเดิน ออกวิ่ง ก็ทำเหมือนเขาไม่ได้ เพราะโซ่ตรวนปัญหาหนี้คอยเหนี่ยวรั้งเอาไว้

ดังนั้น การที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ จึงเป็นเรื่องที่ดี

ที่ผ่านมาก็จะเห็น ธปท.พยายามกระตุ้นให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้และได้เห็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่เข้มข้นมากขึ้น เชิงลึกมากขึ้น อย่าง “คุณสู้ เราช่วย” แต่ปัญหาก็คือ คนที่จะเข้าร่วม “คุณสู้ เราช่วย” ไม่ได้มากมายอย่างที่อยากเห็น

ล่าสุด จึงมีข้อเสนอจากกระทรวงการคลัง ว่าจะขยับมาตรการแก้หนี้ให้เข้มข้นขึ้น โดยโฟกัสไปที่กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไม่เกิน 100,000 บาท

กลุ่มนี้มีหนี้เสียคงค้างอยู่ประมาณ 124,000 ล้านบาท หรือราว 10% ของหนี้เสียทั้งหมด 1.22 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนคน 3.4-3.5 ล้านคน หรือประมาณ 65% ของคนที่เป็นเอ็นพีแอลอยู่ทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย

ADVERTISMENT

คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง บอกว่า ถ้าจัดการกลุ่มนี้ได้ ทำให้คนกลุ่มนี้กลับมามีสถานะหนี้ปกติ ดำเนินชีวิต ดำเนินกิจการต่อไปได้ จะช่วยแก้หนี้ครัวเรือนได้มาก เพราะครอบคลุมจำนวนคนถึง 65% ของคนที่เป็นหนี้เสียอยู่

แนวทางเท่าที่ฟังก็คือ จะซื้อหนี้กลุ่มนี้มาจากแบงก์ทั้งหลาย โดยซื้อในราคาต่ำ เรียกว่าแบบแทบจะให้ยกให้ เพราะมองว่าแบงก์เองก็ตั้งสำรองหนี้ส่วนนี้ไปหมดแล้ว แถมนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีไปแล้ว รวมทั้งเชื่อว่าแบงก์เองก็ไม่อยากเก็บหนี้เหล่านี้เอาไว้ในพอร์ต น่าจะอยากเคลียร์ออกไป

ADVERTISMENT

พอซื้อหนี้มาแล้ว ก็เอามาแก้ ดึงลูกหนี้มาเจรจาปรับโครงสร้าง ให้มาเจรจาก็จะได้วงเงินใหม่เติมไปให้ เริ่มต้นที่ 10,000-20,000 บาท เพื่อดูพฤติกรรมการชำระ หากชำระได้ดีก็จะเพิ่มวงเงินให้อีก และหากชำระได้ตามเงื่อนไข เช่น อาจจะชำระดีเป็นเวลา 3 ปี ก็จะเคลียร์ประวัติเครดิตให้ ฟังไอเดียก็น่าสนใจ หากทำได้ และทำให้ออกมาแบบ Win-Win ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี สุดท้ายก็อยากฝากว่า อย่าลืมดูแล “กลุ่มที่มีประวัติชำระหนี้ดี” มาตลอดด้วย เพื่อให้คนเหล่านี้จะได้ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และมีกำลังใจในการชำระหนี้เพื่อรักษาวินัยทางการเงินต่อไป