
บทบรรณาธิการ
ในวันที่ 2 เมษายนที่จะถึงนี้ก็จะครบกำหนด “เส้นตาย” ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เจ้าของนโยบาย America First Trade Policy สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานการ “ทบทวน” นโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน กับประเทศคู่ค้าสหรัฐ เพื่อตอบคำถามใน 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1) ทบทวนและตรวจสอบการค้าของประเทศคู่ค้าทั่วโลก 2) ทบทวนความตกลงทางการค้าของสหรัฐอเมริกา 3) ทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน และ 4) ตรวจสอบประเด็นที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ เพื่อใช้เป็นคำอธิบายในการที่สหรัฐจะตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่สหรัฐเห็นว่า ทำการค้าและมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practice) กับสหรัฐ สะท้อนออกมาให้เห็นจากการที่สหรัฐ “ขาดดุล” การค้าอย่างมโหฬารติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศว่า จะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ทั้งการเก็บภาษีพื้นฐานทั่วไปและเก็บภาษีเป็นรายสินค้า มีการคาดการณ์กันว่า จะมุ่งไปที่ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐสูงเป็นลำดับต้น ๆ 10-15 ประเทศแรก กับประเทศที่มีอุปสรรคทางด้านภาษีศุลกากรและมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร โดยล่าสุดได้เรียกกลุ่มประเทศที่พร้อมจะถูกตอบโต้จากมาตรการภาษีว่า กลุ่ม Dirty 15 ขณะที่สำนักงานผู้แทนทางการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในสืบสวนสอบสวนและปฏิบัติการตอบโต้ทางการค้า ได้ระบุถึงรายชื่อประเทศที่สหรัฐสนใจเป็นพิเศษ 21 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, สหภาพยุโรป, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, ตุรกี, อังกฤษ, เวียดนาม และประเทศไทย มีชื่อติดอยู่ในกลุ่มด้วย
กลุ่มประเทศที่ USTR แสดงความสนใจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ แต่ก็มีบางประเทศที่ใช้มาตรการที่ถือเป็นอุปสรรคทางการค้ากับสหรัฐ ขณะที่ ประเทศไทย เองติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ในลำดับที่ 11 (45,600 ล้านเหรียญในปี 2567) หรือเท่ากับตกเป็นเป้าหมายโดยตรงที่จะถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ทันที โดยที่ยังไม่รู้ว่า จะมีการเรียกเก็บภาษีเป็นรายสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐที่มีมูลค่าสูง หรือเรียกเก็บภาษีเป็นการทั่วไป
มีข้อน่าสังเกตว่า แต่ละประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้มีการรับมือแตกต่างกันไป บางประเทศเลือกที่จะ “รุก” เปิดการเจรจากับสหรัฐทันที ด้วยการยื่นข้อเสนอที่จะซื้อสินค้า-บริการสหรัฐ หรือเปิดตลาดเพื่อลดการขาดดุลการค้าลง บางประเทศก็พร้อมจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ขณะที่ประเทศไทยเองกลับเลือกที่จะใช้วิธีการ “ตั้งรับ” ด้วยการรอให้ถึงวันที่ 2 เมษายน เสียก่อน ภายใต้ความเชื่อที่ว่าจะสามารถเจรจาต่อรองกันได้