“ตั้งด่าน” สกัด NPL

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลยังคงเป็นปัญหาที่ตามหลอนสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง

ประชาชาติธุรกิจฉบับที่ผ่านมาพาดหัวข่าวว่า “เบี้ยวหนี้ 60 วันขึ้นบัญชีดำ 2 ปี -แบงก์ตั้งการ์ดสูงสกัดเอ็นพีแอล” สะท้อนภาพบรรยากาศคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของแบงก์อย่างชัดเจน

แม้ว่าปัจจุบันสัญญาณการเติบโตเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น จะทำให้การเติบโตของหนี้เสียชะลอตัวไปบ้าง แต่ตัวเลขหนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายคาดการณ์ว่าตัวเลขเอ็นพีแอลจะผ่านจุดสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่ก็เลื่อนเวลามาอย่างต่อเนื่อง และจนถึงเวลานี้ยังไม่แน่ว่าเอ็นพีแอลจะไปพีกช่วงไหน

โดยตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 443,492 ล้านบาท คิดเป็น 2.92% ของสินเชื่อ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 429,031 ล้านบาท ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันเอ็นพีแอลส่วนใหญ่นั้นมาจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และสินเชื่ออสังหาฯ

ตัวเลขหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นก็คือ “ต้นทุน” ของธนาคารที่จะต้องตั้งสำรองหนี้ก้อนดังกล่าวแบบ 100% ทำให้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

และจากที่จะมีการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 กับธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 ยิ่งทำให้มาตรการ “สกรีน-สกัด”หนี้เสียของสถาบันการเงินหนักหน่วงมากขึ้น

เพราะมาตรฐานบัญชีใหม่ แม้ว่าสินเชื่อจะยังไม่ได้เป็น “เอ็นพีแอล” แต่หากสินเชื่อดังกล่าวมีโอกาสเสี่ยงจะเป็นเอ็นพีแอลในอนาคต แบงก์ก็ต้องตั้งสำรองเต็มจำนวนวงเงินกู้ ทำให้กลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระไม่เกิน 60 วัน หรือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่แบงก์มีการจับตาเข้มเป็นพิเศษ

เวลานี้จึงได้เห็นธนาคารพาณิชย์ตั้ง “การ์ดสูง” ในการจัดการกับลูกหนี้กลุ่มนี้ ทำให้มีปรากฏการณ์ว่าลูกค้าที่ค้างชำระหนี้บัตรเครดิตแค่เดือนเศษ ยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารไม่เพียงถูกปฏิเสธการปล่อยกู้เท่านั้น ยังได้รับแจ้งว่าเป็นบุคคลถูกขึ้นบัญชีดำห้ามปล่อยสินเชื่อทุกประเภทเป็นเวลา 2 ปี ถือว่าใช้มาตรการเดียวกับกรณีลูกหนี้ “เอ็นพีแอล” กันทีเดียว

นอกจากนี้บางแบงก์ก็ปฏิวัติ “รื้อระบบสินเชื่อ” เช่นที่ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าปัจจุบันแบงก์เพิ่มตะแกรงพิจารณาสินเชื่อถี่ขึ้น แม้ลูกหนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล แต่เมื่อเห็นสัญญาณผิดนัดชำระหนี้แบงก์ก็ต้องไม่ปล่อย

“เมื่อลูกค้าประวัติไม่ดี เราก็ต้องทำให้เขารู้ตัวด้วย และการแบนปล่อยกู้สองปี ไม่ใช่เป็นลูกหนี้ค้างชำระครั้งแรก แต่เคยมีประวัติค้างชำระมาแล้ว แบงก์จึงต้องระวังมากขึ้น แบงก์ไม่ได้อยากวิ่งหนีลูกค้า แต่ผู้ถือหุ้นเราต้องรอดด้วย” นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่หากแบงก์ต้องตั้งสำรองสินเชื่อกลุ่ม SM เต็มวงเงินด้วย เท่ากับว่าแบงก์ทั้งระบบต้องมีภาระการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท รวมกันเกือบ 8 แสนล้าน

แม้ว่ามาตรฐานบัญชี IFRS 9 ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่สถาบันการเงินทั้งหลายต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ทำให้วันนี้เริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว

ที่น่าสนใจคือมาตรฐานบัญชีใหม่เป็นการเปลี่ยนวิธีการตั้งสำรอง ที่ดูเหมือนเป็นปัญหาของแบงก์ แต่ปัญหานี้กำลังถูกส่งต่อมาให้ผู้กู้แบบเต็ม ๆ เพราะแบงก์ตั้งด่านสกัดเอ็นพีแอล ก็ไม่ต่างกับการสกัดการเข้าถึง “สินเชื่อ” นั่นเอง

ปัญหาที่ตามมาก็คือ ยิ่งแบงก์ตั้งการ์ดสูงเพื่อความแข็งแรง ก็จะกลายเป็นการซ้ำเติมโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มที่มีทางเลือกน้อยให้เข้ามุมอับมากขึ้น