
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ความสูง 33 ชั้น ที่เขตจตุจักร กทม. ยุบตัวพังลงมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 8.2 ริกเตอร์ เมื่อตอนบ่ายวันที่ 28 มี.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และอีกราว 80 คน ติดในซากอาคาร เป็นอาคารแห่งเดียวที่พังลงมาในเหตุการณ์นี้ ผู้ก่อสร้างหลัก เป็นการร่วมทุนของบริษัท จงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน (China Railway No.10 Engineering Group-CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) งบประมาณก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญที่สังคมสนใจคือ สาเหตุการพังทลาย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผลจากแผ่นดินไหว แต่น่าจะเกิดปัญหาในการก่อสร้าง ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจสอบอาคารอื่น ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันอีกต่อไป อาคารแห่งนี้เป็นอาคารของทางราชการ และเป็นหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้งบประมาณจากภาษีอากรในการก่อสร้าง เมื่อเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงต้องมีความชัดเจนว่า สาเหตุของความสูญเสียมาจากอะไร
ผู้ก่อสร้างอาคารนี้ คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ที่ประกอบด้วย บริษัท จงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน (China Railway No.10 Engineering Group-CRCC) รัฐวิสาหกิจจีน กับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ตรวจที่เกิดเหตุ และเก็บตัวอย่างเหล็กก่อสร้างไปตรวจสอบ ต่อมามีการแถลงผลการตรวจสอบว่า จากตัวอย่างเหล็ก 7 ประเภท 28 ชิ้น มีชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ในเหล็กที่มีขนาด 32 มม. และ 20 มม.
เหล็กบางรายการตกเกรด เช่น เหล็กจะต้องมีน้ำหนัก 10 กก. แต่พบว่ามีน้ำหนักแค่ 9.5 กก. เท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเหล็กเบา เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน หากใช้ในงานก่อสร้างจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานไซซ์ 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร มาจากบริษัทเดียวกัน ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สั่งปิดไปในเดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษแล้ว และกำลังตรวจสอบบริษัทจีน 3 ประเด็น คือ 1.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้นอมินี พบว่าขาดทุนมาตลอด และไม่เสียภาษี มีการนำเงินไปให้กรรมการบริษัทกู้ 2,000 ล้านบาท 2.สินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม และ 3.การจัดซื้อจัดจ้างที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไป ดีเอสไอมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นเห็นว่าต่ำกว่าราคากลางเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ควรต่ำกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์
นั่นคือความเคลื่อนไหวจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งถือว่ารวดเร็ว ตรงไปตรงมา และควรเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ข้อสงสัยของสังคม และสร้างมาตรฐานที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดบกพร่อง ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของสังคมขึ้นมาอีก