ตั้งคณะเจรจาปรับสมดุลการค้าสหรัฐ

Donald Trump (AP Photo/Evan Vucci)
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศเมื่อเช้าวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่จะขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่ทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและไม่สมดุลกับสหรัฐ โดยการขึ้นภาษีขั้นต่ำคิดที่ร้อยละ 10 สำหรับทุกสินค้าจากทุกประเทศที่สหรัฐนำเข้า (Tariff Baseline) มีผลทันทีในวันที่ 5 เมษายน และเก็บภาษีสูงกว่านั้น (Reciprocal Tariff) หรือภาษีตอบโต้สำหรับ 50 ประเทศที่สหรัฐเห็นว่า เป็นประเทศที่กระทำผิดร้ายแรงที่สุดต่อสหรัฐ มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน

โดยประเมินจากการนำตัวเลขที่ประเทศนั้น ๆ “เกินดุลการค้า” กับสหรัฐมาหารด้วยมูลค่าส่งออกทั้งหมด ออกมาเป็นภาษีที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสหรัฐ หรือ Tariffs Charged แล้วนำมาหารสองออกมาเป็น Discounted Reciprocal Tariffs หรือภาษีตอบโต้ที่ถูกลดลงครึ่งหนึ่ง

การเรียกเก็บภาษีตอบโต้ดังกล่าว ปรากฏประเทศไทย จัดเป็น 1 ใน 50 ประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ ในอัตรา Tariffs Charged ที่สูงถึงร้อยละ 72 เมื่อนำอัตราดังกล่าวมาหารสอง เพื่อกำหนดอัตรา “ส่วนลดลงครึ่งหนึ่ง” ส่งผลให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถึงร้อยละ 36 ซึ่งจัดเป็นอัตราที่สูงมาก เมื่อพิจารณาจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน รองจากเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยเพียงประเทศเดียว ที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ถึงร้อยละ 46 จากอัตรา Tariffs Charged ที่ร้อยละ 90

การประกาศอัตราภาษีตอบโต้ดังกล่าว สหรัฐเห็นว่า เป็นการประกาศอิสรภาพจากการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และยังเป็นการพลิกฟื้นระเบียบปฏิบัติที่สหรัฐเห็นว่า จะต้องเป็นธรรมกับสหรัฐ ไม่ขูดรีดสหรัฐ อย่างที่มีมาอย่างยาวนาน

ในขณะที่ประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ต่างเห็นว่า สหรัฐได้จุดชนวนสงครามการค้า (Trade War) อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการขึ้นภาษีครอบคลุมทุกสินค้า กับทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองมาอย่างยาวนาน

รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเรื่อง ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐ ทันทีที่ทราบอัตราภาษีตอบโต้ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 36มีสาระสำคัญอยู่ที่ความต้องการที่จะ “ส่งสัญญาณ” พร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐทันที เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรม” กับทั้ง 2 ประเทศ

ADVERTISMENT

พร้อม ๆ กับปรากฏชื่อคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ที่อ้างว่าได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ในกรณีการขึ้นภาษีครั้งนี้มาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนแล้ว จึงควรที่คณะทำงานดังกล่าว จะต้องรีบเร่งสรุป “ข้อเสนอ” เป็นรายสินค้าและบริการ เพื่อลดการได้ดุลทางการค้ากับสหรัฐลง

ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ลดอัตราภาษีตอบโต้ทางการค้าลงให้อยู่ในระดับที่ประเทศไทยจะแข่งขันได้ให้กับคณะเจรจาการค้า ที่จะตั้งขึ้นใหม่ โดยจะต้องมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อเสนอที่จะเกิดขึ้นทันที

ADVERTISMENT