
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้ออกข้อสั่งการเมื่อวันที่ 8 เมษายน ให้ทุกหน่วยงานรณรงค์เข้มงวด “ดื่มไม่ขับ” เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยให้ กระทรวงคมนาคม จัดบริการขนส่งสาธารณะทุกระบบให้เพียงพอและปลอดภัยและตรวจสอบเส้นทางที่มีการก่อสร้างให้ปลอดภัย สั่งการให้ ตำรวจ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศดูแลเส้นทางจราจรให้คล่องตัว ป้ายบอกทางชัดเจน กวดขันวินัยจราจร มีจุดตรวจจับดื่มแล้วขับ
ด้านกระทรวงสาธารณสุข ให้พร้อมดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน กระทรวงศึกษาธิการ ขอความร่วมมือ นักเรียนอาชีวะ ซ่อมแซมดูแลรถระหว่างเดินทางในช่วงเทศกาล และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ขณะที่ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ก็ได้ทำการ “ถอดบทเรียน” ในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา แม้จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน “ลดลง” จากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 21.8% จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง 23.38% แต่ผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น 3.1%
ขณะที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 พบว่า เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 2,044 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,060 ราย และเสียชีวิต 287 ราย เฉพาะการเสียชีวิตย้อนหลังไปอีก 3 ปี ตัวเลขก็ยังอยู่ในระดับเกินกว่า 200 รายขึ้นไปเสมอ
เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 มาจากการ “ขับรถเร็ว” ถึง 41.5% เป็นเหตุให้เสียชีวิตถึง 55.1% รองลงมาได้แก่ เมาแล้วขับ 22.7% เป็นเหตุให้เสียชีวิต 15.3% การตัดหน้ากระชั้นชิด 18.1% เหตุเสียชีวิต 23.7% ทัศนวิสัย 12.9% เหตุเสียชีวิต 14.6% และสภาพถนน 5.1% เหตุให้เสียชีวิต 1.7%
ในจำนวนนี้เป็นการเกิดอุบัติเหตุกับรถจักรยานยนต์ มากที่สุดถึง 84.9% (1,841 คัน) รถปิกอัพ/กระบะ 6.86% (209 คัน) และรถเก๋ง 3.72% (108 คัน) ทั้งหมดนี้ได้เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง 39.92% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 29.79% และถนนในเมือง (เทศบาล) 14.09%
จึงควรที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนจักต้อง “ตระหนัก” ถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมาจากพฤติกรรม การขับรถเร็ว แม้รัฐบาลโดย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) จะบริหารจัดการและรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” อย่างเข้มข้นเพียงใดก็ตาม
แต่ถ้าผู้ขับขี่ตั้งอยู่ในความประมาท-ไม่มีสติ ที่จะลดความเร็วของยวดยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางลงมาให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด จะถอดบทเรียนสักกี่ครั้ง กี่เทศกาล ก็เปล่าประโยชน์ที่จะไปให้ถึง เป้าหมายรวม ที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คนต่อ 100,000 ประชากร ให้ได้ภายในปี 2570