“อินทรีเหล็ก” ในความทรงจำ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

เพื่อให้เข้ากระแสฟุตบอลโลก ผมจึงอยากเขียนอะไรสบาย ๆ เกี่ยวกับฟุตบอลโลกบ้าง แต่ไม่ใช่ปี 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพนะครับ ผมอยากย้อนไปสัก 40 กว่าปีก่อน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าทำไมคนสมัยนั้นถึงไม่ค่อยชอบบอลอังกฤษเท่าไหร่นัก

ต้องเท้าความให้ฟังอย่างนี้ครับ

เนื่องจากสมัยนั้นไฟฟ้ายังจำกัดอยู่เฉพาะแต่ตัวเมืองใหญ่ ๆ จึงทำให้จังหวัดที่ห่างไกลออกไปยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้แต่ตัวเมืองในบางจังหวัด บางทียังต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุให้ความสว่างแทนแต่สนนราคาถือว่าแพงอยู่พอสมควร

ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ซึ่งตะเกียงน้ำมันก๊าดก็มีหลายขนาดตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละครอบครัวด้วย เพราะถ้าตะเกียงใหญ่หน่อยจะให้แสงสว่างมากกว่า ตะเกียงเล็กหน่อยจะให้แสงสว่างน้อยกว่าแต่บางตะเกียงมีการปรับความสว่างมากหรือน้อยจากไส้ของตะเกียงด้วย

ดังนั้น ถ้าบ้านใครมีโทรทัศน์ หรือวิทยุ ถือว่ามีฐานะอยู่พอสมควร แต่ก็อีกแหละโทรทัศน์สมัยก่อนมักจะเป็นยี่ห้อธานินทร์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย

โดยเฉพาะ แทบน้อยหลังที่จะมียี่ห้ออื่น ๆ เพราะตอนนั้นกระแสรักชาติค่อนข้างมาแรงมีการกีดกันทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่นจึงทำให้มีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นที่กำลังเข้ามาระบาดในประเทศไทย ผลเช่นนี้ จึงทำให้โทรทัศน์ขาวดำยี่ห้อธานินทร์จึงค่อนข้างขายดีในเมืองหลวง และเมืองใหญ่ ๆ เพราะนอกจากราคาจะไม่แพงมากเหมือนกับโทรทัศน์แบรนด์ต่างประเทศ การวางสายไฟฟ้ายังถูกติดตั้งเพื่อรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ด้วยโทรทัศน์ก็เช่นกัน

แต่กระนั้น มีบางครอบครัวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่อยากมีโทรทัศน์ พวกเขาจึงต้องต่อสายไฟกับขั้วแบตเตอรี่รถยนต์ เท่านั้นก็สามารถดูโทรทัศน์ได้แล้ว ที่ผมเล่าให้ฟังเสียยืดยาวเพื่อจะบอกว่าการดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกสมัยก่อนลำบากมาก

ไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เพราะสมัยนั้นยังเป็นดิวิชั่น 1-2 กันอยู่ และก็มีน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับฟุตบอลเยอรมัน ซึ่งมีบุนเดสลีกาเป็นลีกสำคัญ ๆ ที่มีสโมสรดังต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้คนรุ่นผมได้ดูกัน

ตอนนั้นทีมดัง ๆ มีหลายทีม อาทิ มึนเช่นกลัดบัค, ชาลเก้ 04, บาเยิร์น มิวนิก และอื่น ๆ ส่วนนักฟุตบอลดัง ๆ สมัยนั้นที่ผมชื่นชอบก็มีเช่น ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์, ไรเนอร์ บอนฮอฟ, แกร์ท มึลเลอร์, ฮันซี่ มุลเลอร์, เคลาส์ ฟิชเชอร์, เซปป์ ไมเออร์ และอื่น ๆ

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่รู้จักนักฟุตบอลอังกฤษ ก็รู้จักบ้าง แต่ถ้าจะให้คลั่งไคล้กันจริง ๆ คนรุ่นผมมักจะคุ้นชื่อ และคุ้นหูนักฟุตบอลเยอรมันมากกว่า สาเหตุเพราะกูรูทางด้านฟุตบอลสมัยนั้นส่วนใหญ่มักเทไปทางเยอรมัน จึงทำให้เราเองพลอยซึมซับฟุตบอลเยอรมันไปด้วย

ที่สำคัญ หนังสือกีฬาอย่างสตาร์ซอคเกอร์มักลงรูปปก รูปหน้ากลาง และเรื่องราวต่าง ๆ ของนักฟุตบอลเยอรมันค่อนข้างมาก จึงทำให้รูปปก รูปหน้ากลางของแต่ละเล่มจึงถูกดึงมาติดผนังห้องพรึ่บกันไปหมด

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เวลามีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง คนรุ่นผมจึงเฝ้าหน้าจอว่านักฟุตบอลเยอรมันที่ตัวเองชื่นชอบจะทำผลงานดีหรือไม่ ทั้งยังจดจำแมตช์สำคัญ ๆ ที่ลงชิงชนะเลิศกับบราซิล, เนเธอร์แลนด์, อาร์เจนตินา และอื่น ๆ อีกด้วย

โดยเฉพาะนักเตะดัง ๆ ของประเทศเหล่านั้นก็จะพลอยถูกจดจำชื่อไปด้วย แต่แทบจะจำชื่อนักฟุตบอลอังกฤษไม่ได้เลย จนมาตอนหลัง ๆ ที่เขาเริ่มถ่ายทอดฟุตบอลดิวิชั่น 1 ของอังกฤษบ้าง ก็เลยพลอยรับรู้ชื่อของนักฟุตบอลอังกฤษไปด้วย

แต่ความรักมันถูกฝังรากลึกเสียแล้วให้คนรุ่นผมชอบฟุตบอลเยอรมัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งทีมเยอรมันลงเตะในฟุตบอลโลกไม่ว่าประเทศไหนเป็นเจ้าภาพก็ตาม ผมต้องนั่งถ่างตาเชียร์อยู่เสมอ

รวมถึงแมตช์ล่าสุดที่ไปแพ้เม็กซิโก 1: 0 ที่รัสเซีย 2018 ครั้งนี้ด้วย แม้จะไม่ใช่คู่ดึกมาก แต่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยว่าทำไมอินทรีเหล็กของผมจึงปีกหักกลางคัน จนแพ้แต่แมตช์แรกเลย

ไม่เป็นไร…ผมบอกตัวเอง

พวกเขาจะกลับมาผงาดอีกครั้ง…ผมบอกตัวเองเป็นครั้งที่ 2 เพราะผมเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ นะ