ร่าง กม.ภาษีที่ดินยิ่งแก้ยิ่งห่างไกลหลักการ

บทบรรณาธิการ

ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกครั้ง ที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ ….ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระแรกตั้งแต่ 31 มี.ค. 2560 ถึงตอนนี้แม้จะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุดมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปอีก 60 วัน ถือเป็นการขอขยายเวลาพิจารณาครั้งที่ 7 เพื่อพิจารณาข้อสังเกตจากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และจากคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่าย

เท่ากับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งถูกปรับปรุงแก้ไขในส่วนของสาระสำคัญในลักษณะถูกยำใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง กำลังจะถูกตัดต่อปรับแก้เพิ่ม จนอาจไม่เหลือเค้าเดิมให้เห็น กลายเป็นร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ ที่ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคม

ในทางตรงกันข้ามอาจเปิดโอกาสให้คนระดับบน กลุ่มคนที่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจ เศรษฐี นายทุน อาศัยช่องโหว่กฎหมายที่กำหนดบทบัญญัติข้อยกเว้น ผ่อนปรนมากมาย ทำให้ไม่ต้องรับภาระควักเงินจ่ายภาษีเข้ารัฐ ทั้งที่ถือครองที่ดิน ทรัพย์สินอยู่ในมือจำนวนมากสวนทางกับนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยให้คำมั่นว่า จะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี และปรับปรุงโครงสร้างภาษี และขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ อย่างภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่คาดหวังจะมีรายได้มากขึ้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ ที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องรอการบังคับใช้กฎหมายใหม่ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อใด

เพราะแม้ รมช.คลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ จะระบุว่า รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ประกาศใช้ต้นปี 2562 แต่ในทางปฏิบัติคงไม่สามารถเร่งกระบวนการขั้นตอนให้ที่ประชุม สนช.ทำตามเงื่อนเวลาที่รัฐบาลต้องการได้

ประกอบกับใกล้ถึงช่วงโค้งสุดท้ายที่จะนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งต้นปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ประกาศชัดแล้วว่าจะลงสนามการเมือง โอกาสที่รัฐบาลจะเร่งรัดผลักดันใช้กฎหมายภาษีที่ดินยิ่งทำได้ลำบาก

จึงน่าห่วงว่าร่างกฎหมายอาถรรพ์ฉบับนี้จะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่งเหมือนทุกครั้ง ถ้าหากรัฐบาล กับ คสช.เลือกที่จะรักษาคะแนนนิยม มากกว่าเจตนารมณ์และหลักการที่เคยประกาศไว้