คำชมของ ‘เบสเซนต์’ รมต.คลังสหรัฐ

Scott Bessent (AP Photo/Jose Luis Magana)
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เหลืออีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะครบกำหนดระยะเวลา 90 วันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariffs) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับ 50 ประเทศทั่วโลก เฉพาะในกรณีของประเทศไทยปรากฏสหรัฐได้เรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูงถึง 36% หรือเกือบสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

จะเป็นรองก็แต่ประเทศเวียดนามเท่านั้น ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทย 10% หรือถูกเรียกเก็บ 46% โดยอัตราภาษีตอบโต้ที่สูงในระดับเกินกว่า 30% ขึ้นไปนั้นเป็นผลมาจากการคำนวณ Tariffs Charged หรือภาษีที่ประเทศอื่นเรียกเก็บจากสหรัฐ ซึ่งไทยถูกกล่าวหาว่า มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเฉลี่ย 72% ขณะที่เวียดนามโดนเข้าไปถึง 90%

ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าสหรัฐที่มีรายชื่อติดอยู่ในบัญชีที่จะถูกขึ้นภาษีตอบโต้ต่างดิ้นรนที่จะขอเปิดการเจรจากับสหรัฐเพื่อขจัดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการค้าจากการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง รวมไปถึงความเชื่อที่ว่า เจรจาก่อนย่อมได้เปรียบประเทศที่เข้าไปเจรจาทีหลัง

เนื่องจากผลของการตกลงเพื่อขจัดหรือลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศที่เข้ามาเจรจาทีหลัง รวมไปถึงยังเป็นการลดแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศของตัวเองลง อันเนื่องมาจากการรับรู้ผลกระทบที่จะถูกเรียกเก็บภาษีที่เพิ่มมากขึ้น

มีตัวอย่างหลายประเทศที่เข้าไปเจรจาเพื่อลดภาษีก่อน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมไปถึงสหภาพยุโรป ทว่าการเจรจาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จากข้อเสนอที่หยิบยื่นให้กับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีหรือสัญญาว่าจะนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มมากขึ้น

แต่สหรัฐเห็นว่า “ยังน้อยเกินไป” และไม่ทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนดูเหมือนว่ามีเพียง “อังกฤษ” เพียงประเทศเดียวที่อาจเรียกว่า ใกล้จะบรรลุความตกลงกับสหรัฐแล้ว จากข้อเสนอจะลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐจาก 5.1% เหลือ 1.8% และสหรัฐลดภาษีให้อังกฤษลงเหลือ 10% พร้อมการกำหนดโควตานำเข้ารถยนต์จากอังกฤษ เหล็ก อะลูมิเนียม และเนื้อวัวจากสหรัฐ

ADVERTISMENT

ขณะที่ “เป้าหมาย” ใหญ่ในการเจรจาการค้าของสหรัฐ ยังคงเป็น “จีน” หลังจากที่เจรจากันรอบแรกด้วยการประกาศ “หยุดตอบโต้จากการขึ้นภาษี” ออกไปอีก 90 วัน โดยสหรัฐลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 30% จีนลดลงเหลือ 10% แล้วเริ่มต้นเจรจากันต่อไป

ส่วนประเทศไทยเองยังคงไม่ได้รับการนัดหมาย แต่กลับมีการออกข่าวดีจากกรณีที่ “สกอตต์ เบสเซนต์” รมต.คลังสหรัฐ “ชื่นชม” ข้อเสนอ (Proposal) ของไทยที่จะลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐลง จนถึงกับเชื่อว่า ภาษีตอบโต้ไทยจะลดลงเหลือ 10% ทว่าเป็นแค่เพียง “คำชม” เท่านั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องระมัดระวังและมีความรอบคอบกับผลกระทบรอบด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมในการลดภาษีหรือซื้อสินค้าสหรัฐที่จะมีต่อประเทศเป็นสำคัญ