แก้ BTS ขัดข้องซ้ำซากก่อนไปไฮสปีด

AFP PHOTO / SAEED KHAN

บทบรรณาธิการ

ข่าวระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา แพร่สะพัดอย่างรวดเร็วจากการบอกต่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ กับที่บีทีเอสเองแจ้งผู้ใช้บริการผ่านทวิตเตอร์ ชี้แจงข้อขัดข้องของระบบอาณัติสัญญาณบีทีเอสทั้งสายสีลม และสายสุขุมวิท ตามมาด้วยความโกลาหลและเสียงบ่นระงมของคนกรุง

ไม่แปลกที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดปัญหาทั้งจากตัวระบบควบคุมการเดินรถ อาณัติสัญญาณ ประแจสับราง ฯลฯ จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเรียกร้องให้บีทีเอสออกมาแสดงความรับผิดชอบ

ย้อนดูสถิติข้อขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้รับสัมปทานโครงการนี้จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า มีปัญหาต่อเนื่องและบ่อยครั้งมากขึ้น

โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น โดยปี 2560 ที่ผ่านมาต้องหยุดให้บริการเดินรถกว่า 40 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 4 ครั้ง

ถึงปีนี้ นอกจากปัญหาเก่าไม่ได้รับการแก้ไข ระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณที่เคยขัดข้องจึงไม่ได้ลดน้อยลงหรือหมดไปแล้ว ยังมีปัญหาใหม่คลื่นความถี่วิทยุจากตึกสูงรบกวนเข้ามาซ้ำเติม ส่งผลกระทบผู้ใช้บริการในวงกว้างมากขึ้น แถมแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุด แม้ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับผู้บริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เข้าหารือเพื่อหาทางป้องกันแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดคงไม่มีหลักประกันใด ๆ ให้มั่นใจได้ว่า ข้อขัดข้องทางเทคนิคของรถไฟฟ้าบีทีเอสจะไม่เกิดขึ้นซ้ำซากอีก

สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ที่กำลังเร่งเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โครงการรถไฟฟ้าอีกหลากหลายสี เพื่อให้ครอบคลุมทั้งสี่มุมเมือง รวมทั้งการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ หนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงน่าห่วงว่าถ้าหากได้ตัวผู้ประกอบการที่ไม่มีศักยภาพมาลงทุน นอกจากไม่สามารถพลิกอนาคตประเทศได้แล้ว จะยิ่งสร้างปัญหาให้มากกว่า


รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ประเทศชาติส่วนรวมได้ประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับผลักดันยกระดับระบบขนส่งมวลชนไทยทั้งที่มีอยู่เดิมและที่จะเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ ๆ มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องตอบโจทย์การเดินทางของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง