อย่าโยนปัญหา-ผลักภาระผู้ใช้รถไฟฟ้า

บทบรรณาธิการ

ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ขัดข้องหลายวันติดต่อกัน ตามด้วยระบบเบรกรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินมีปัญหา ทำให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลนับแสนคนต้องเผชิญกับวิกฤตการเดินทาง ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบจะคลี่คลายลง โดยในส่วนของบีทีเอสซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาบ่อยครั้งอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมร่วมมือกับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา แต่คนกรุงก็ยังต้องลุ้นต่อ จนกว่าจะมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอทางออกให้บีทีเอสเปลี่ยนช่องความถี่สำหรับใช้ในการสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณ โดยคาดหวังว่าหลังย้ายช่องความถี่แล้วเสร็จวันที่ 29 มิ.ย.นี้ การถูกคลื่นสื่อสารย่านความถี่ใกล้เคียงรบกวนจะลดน้อยลง แต่ยังต้องจับตามองและรอผลในทางปฏิบัติว่า หลังเปลี่ยนช่องความถี่ไปใช้คลื่นสัญญาณช่องอื่น ปัญหาคลื่นสัญญาณสะดุดขัดข้องจะลดน้อยลงจริงหรือไม่

ขณะเดียวกันแรงกดดันจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า และสาธารณชน โดยเฉพาะสังคมโซเชียลที่จุดกระแสข้อเรียกร้องให้ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ แม้บีทีเอสจะรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา แต่ขอนำเรื่องนี้ชงต่อให้บอร์ดของบริษัทเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดว่า จะชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผล กระทบได้อย่างไรบ้าง

ที่น่าห่วงคือแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งบีทีเอส เลือกนำมาใช้เป็นทางออกเวลานี้ สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว หรือแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น เพราะไม่มีหลักประกันว่าหลังเปลี่ยนช่องความถี่หนีคลื่นสื่อสารที่เข้ามารบกวนครั้งนี้แล้ว

ช่องความถี่ใหม่ที่เลือกใช้จะไม่มีคลื่นอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ กันรบกวนซ้ำรอยเพราะหากจะแก้ปัญหาอย่างถาวรนอกจากเอกชนต้องลงทุนติดตั้งระบบกรองสัญญาณเพิ่ม อีกแนวทางหนึ่งคือการยื่นขออนุญาตใช้คลื่นสำหรับการเดินรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ด้วยการยื่นขอสัมปทานจาก กสทช.โดยตรง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตสามารถให้บริการได้มีประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่าลงทุน กทม.ในฐานะเจ้าของสัมปทานบีทีเอส

กระทรวงคมนาคม กสทช. จำเป็นต้องหารือให้ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า จะจัดสรรคลื่นความถี่ใดรองรับระบบขนส่งมวลชนของประเทศ ที่สำคัญต้องไม่โยนปัญหา หรือผลักภาระให้กับชาวบ้าน