สร้างภูมิคุ้มกัน ศก.ประเทศพ้นวิกฤต

บทบรรณาธิการ

จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไป 21 ปีแล้ว แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขา คนในแวดวงการเงิน วงการอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่ยังคงจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ไม่มีวันลืม โดยเฉพาะในแง่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ไม่รวมภาระหนี้ และการปิดตัวล้มหายตายจากของกิจการทั้งใหญ่-เล็ก

กลายเป็นบทเรียนความผิดพลาดในการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ อย่างนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนนอกจากโหมก่อหนี้ทั้งในประเทศ ต่างประเทศเกินตัวแล้ว การปั่นราคาเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ตลาดหุ้น ยังแพร่สะพัด

เท่ากับเร่งให้เกิดปัญหาฟองสบู่ จนบานปลายกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งลุกลามไปทั่วเอเชีย หลังประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงิน กดดันให้รัฐบาลต้องประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ก่อนยื่นขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้ไอเอ็มเอฟ ใช้เวลานานหลายปีกว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะพลิกกลับมาฟื้น

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ ต่างถอดบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาปรับใช้ ด้วยการปรับกฎกติการะบบสถาบันการเงิน สร้างวินัยทางการเงินการคลังเข้มงวดรัดกุมขึ้น

ส่งผลให้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ช่วงต้นปี 2561 ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในอันดับ 12 จากทั้งหมด 193 ประเทศ และล่าสุดเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปัจจุบันเกินดุล 1.65 ล้านล้านบาท เป็นภูมิคุ้มกันความสุ่มเสี่ยงจากปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบได้เป็นอย่างดี

จะมีก็แต่เศรษฐกิจฐานรากเท่านั้นที่ยังเปราะบางจนน่าห่วง เห็นได้จากคนระดับกลาง ล่าง ประชากรในภาคการเกษตร ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังยากลำบาก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สิ้นไตรมาส 1/2561 หนี้ภาคครัวเรือนไทยทั้งระบบอยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77.6% ของจีดีพี


ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ ด้วยการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสารพัดโครงการที่ทยอยออกมาก่อนหน้านี้ให้ปรากฏผลในทางปฏิบัติให้ชัดเจน สร้างงาน สร้างอาชีพ ปลดล็อกความยากจนให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีช่วยให้เศรษฐกิจประเทศรอดพ้นจากวิกฤตทั้งหลายทั้งมวลได้