เมาคลื่นเทคโนโลยี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก

 

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและน่าเก็บบันทึกไว้เป็น “บทเรียนสอนใจ” ในการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจไม่อยากจะบอกว่าใครผิด ใครถูก

แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้เรานำกลับไปคิดได้ไม่มากก็น้อย ถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาที่ยังไม่รู้จะวิ่งใส่อีกเมื่อไหร่

ทั้งการปฏิบัติการช่วยเด็กและโค้ช 13 ชีวิต “ทีมฟุตบอลหมูป่า” ให้รอดจากการติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนอย่างปลอดภัย จากการรวมพลังจากของคนไทยและมิตรประเทศ ที่อดตาหลับ ขับตานอนกอบกู้ชีวิตได้จนสำเร็จ

ทั้งกรณีระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ทุบสถิติขัดข้องซ้ำซากหลายครั้งในระหว่างวัน จนถูกถล่มยับบนโลกโซเชียล เป็นธรรมดาคนใช้เยอะ ก็มีเสียงบ่นเยอะ เมื่อ “อันไหนไม่สุขใจ ก็ต้องบ่น”

แต่เมื่อบ่นแล้วได้รับการตอบสนอง ใจจะสุขใจยิ่งกว่า ก่อนหน้านี้บ่นว่ารถแน่น เป็นปลากระป๋อง บีทีเอสก็ทุ่มเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านซื้อรถใหม่ 46 ขบวน เตรียมเปิดตัวทดสอบระบบในเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนระบบอาณัติสัญญาณที่รวน ฟังจากคำชี้แจงของซีอีโอบีทีเอส เกิดจากอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบวิทยุใหม่ที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า จาก “โมโตโรล่า” ที่อ้วนกลมรับสัญญาณได้กว้าง เป็น “ม็อกซ่า” ที่สูงผอมเพรียว มีพื้นที่รับสัญญาณแคบลง ซึ่งติดตั้งทั้งโครงข่ายเก่าและส่วนต่อขยายสายใหม่แบริ่ง-สมุทรปราการ จะเปิดบริการในปลายปี 2561 ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยน มีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารของสัญญาณโทรคมนาคมภายนอกมีความเข้มสูง 2300 เมกะเฮิรตซ์ เข้ามารบกวนต่อสัญญาณวิทยุบีทีเอสที่ใช้ในระบบอาณัติสัญญาณ ย่านความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์

โดยเฉพาะสถานีในเมือง “พร้อมพงษ์-อโศก-สยาม” จุดเชื่อมต่อสายสีลมและสายสุขุมวิท ทำให้ไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วปกติ เพราะต้องปรับการเดินรถเป็นระบบแมนวล ทำให้ล่าช้า ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ตกค้างอยู่เต็มสถานีเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

จากกรณีดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือ 4 ฝ่าย ระหว่าง “บีทีเอส-ดีแทค-กสทช.-ทีโอที” โดย กสทช.ขอให้ทีโอที ลดความเข้มสัญญาณของเสาส่งตลอดเส้นทางบีทีเอสลง เพื่อลดการรบกวนของคลื่นวิทยุ และแนะบีทีเอสย้ายคลื่นความถี่จาก 2400 เมกะเฮิรตซ์ ไปอยู่ในช่วงใกล้ 2500 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งติดอุปกรณ์กรองสัญญาณเพิ่มเติม

เพียงแค่ “ปิดและขยับหนี” ทำให้การเดินรถบีทีเอสราบรื่น แต่ก็ไม่ถึงกับสมูทเสียทีเดียว ยังมีกระตุก-กระชาก เนื่องจากยังติดเครื่องกรองสัญญาณไม่ครบ

ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่บรรเทาได้ระดับหนึ่ง หลังจากนี้ “บีทีเอส-กสทช.” ต้องกลับไปคิดวิธีการจะป้องกันปัญหาในระยะยาว ด้วยการกันคลื่นความถี่ไว้เฉพาะ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังมีอีกสารพัดสีและสารพัดสาย

ส่วน “บีทีเอส” แม้จะเพิ่งลงทุนติดระบบอุปกรณ์วิทยุสื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณใหม่แล้วเสร็จ ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เมื่อปัจจุบันธุรกิจกำลังถูกระบบเทคโนโลยีไล่ล่า จากแรก ๆแค่มึน ตอนนี้ก็เมาไปหมด ทั้ง “คนใช้และคนทำ”

เมื่อ “ระบบอาณัติสัญญาณ” คือหัวใจสำคัญของการเดินรถไฟฟ้า หากต้องยกเครื่องใหม่ก็ต้องทำ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ เพราะต่อไปไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียวส่วนต่อขยาย ยังมีสายสีชมพูและสีเหลืองที่บีทีเอสต้องเป็นผู้เดินรถ

แม้จะเสกมาไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ขอให้เริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ เพราะแค่ 2 วันที่ป่วนหนัก ผู้โดยสารที่เคยใช้บริการก็หายไปเกือบ 1 แสนคนต่อวัน คิดเล่น ๆ ค่าโดยสารต่อเที่ยวของบีทีเอสเฉลี่ยอยู่ที่ 28 บาท หากหายไป 1 แสนคน เท่ากับสูญรายได้ไปวันละ 2.8 ล้านบาท

เหนือสิ่งอื่นใด ที่ผู้ใช้บริการอยากเห็น คือ ความรับผิดรับชอบของบริษัทต่อกรณีที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเกิดจากปัจจัยนอกอย่างที่ย้ำอยู่เสมอ แต่หากมีมาตรการทำไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อเยียวยายามเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะดี เพราะถึงมูลค่าที่ได้กลับคืนจะไม่มากไม่มาย แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ

ไหน ๆ บิ๊กบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” ก็เคยกล้าบ้าบิ่นทุ่มเงินหลายหมื่นล้านปลุกปั้นรถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทยจนผ่านพ้นวิกฤต มาถึงวันนี้ ก็เข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว 

น่าจะลองทุ่มอีกสักตั้ง !