มหาอำนาจเกษตร

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

“ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร” หัวข้อเสวนาที่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา หลายคนมองว่าอาจไกลเกินฝัน แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันจริงจังอย่างน้อยก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประเทศ

เพราะด้วยจุดแข็งด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ จากทำเลที่ตั้ง บวกภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากคนรุ่นต่อรุ่น กับวิถีชีวิตคนไทย โดยเฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรมมาแต่ในอดีต ถ้าหากคนรุ่นปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ยังเห็นความสำคัญ และไม่ทิ้งภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานเดิม การเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร หรือจะเป็นครัวโลกตามนโยบายที่หลายหน่วยงานพยายามผลักดันอาจทำได้ใกล้เคียงขอเพียงแค่ศึกษาค้นคว้า พร้อมกับนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้

วัตถุประสงค์ในการระดมสมองครั้งนี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐนำไปพิจารณา และบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 179 ต่อ 0 เสียง เมื่อ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561-2580

เนื่องจากมองว่าร่างยุทธศาสตร์ที่ถูกยกร่างขึ้นยังไม่มีประเด็นด้านการเกษตรบางประเด็น ทั้งที่จะมีผลผูกพันทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามอีก 20 ปีจากนี้ไป

หลังพิจารณากรอบยุทธศาสตร์ชาติในขอบเขตของภาคการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย จึงมี
ความเห็นในหลักการ 4 ประเด็น

1.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ยกร่างขึ้นจะมีผลผูกพันเป็นกฎหมาย ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 (ฉบับปราบโกง) มาตรา 65 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐจะต้องดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติจึงมีความสำคัญและต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมต่อประชาชน ทั้งนี้ จากที่สมาคมได้ตรวจสอบจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ และการวิเคราะห์นโยบาย พบว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกจัดทำขึ้นยังมีจุดอ่อน เห็นสมควรปรับปรุงแก้ไข

2.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่าน ครม.เมื่อ 5 มิถุนายน 2561 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ปรากฏในประเด็น ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงตรวจสอบพบว่าเป็นร่างยุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างถ้อยคำและโวหาร อาทิ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรอัตลักษณ์ เกษตรดิจิทัล เป็นต้น

ขณะที่โวหารและถ้อยคำดังกล่าว ไม่ได้บ่งบอกถึงแนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต้องนำไปปฏิบัติจะไม่มีความชัดเจนว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ทำด้วยวิธีใด ใช้เวลาปฏิบัตินานเท่าใด ใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และได้รับมากน้อยเพียงใด ฯลฯ สวนทางกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำให้เกิดการสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากรแผ่นดิน

3.การตรวจสอบเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งเป้าหมายรวมและเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน พบว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ระบุเชิงปริมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องในหลักการจัดทำเป้าหมาย จึงควรกำหนดเป้าหมายที่กำกับด้วยเชิงปริมาณ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดการสูญเสีย

และ 4.ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ต้องสอดคล้องและเกื้อกูลกันในการปฏิบัติ ฯลฯ เวทีเสวนาจึงหยิบยกยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านที่ถูกยกร่างขึ้น ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองที่อาจจะแตกต่าง แต่ไม่ได้แตกแยก

หากรัฐรับไปพิจารณาก็น่าจะยกชั้นเกษตรไทยก้าวไปอีกขั้น แม้ไม่ถึงกับเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรแต่จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง