ยุทธศาสตร์ “มะพร้าว” ไทย-อินโดฯ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แม้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี และนำใช้ประโยชน์ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ผล เส้นใย ไม่เว้นแม้กระทั่งส่วนของยอด แถมนิยมบริโภคทั้งสดทั้งแปรรูป จนเรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณสารพัด แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ “มะพร้าว” เท่าที่ควรจะเป็นมิหนำซ้ำสวนมะพร้าวในพื้นที่หลายจังหวัดกลับถูกโค่นทิ้ง ปรับเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมันแทนที่ ไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่ปลูกมะพร้าวของไทยจะลดลงต่อเนื่อง

ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า ช่วงปี 2551-2556 เนื้อที่ให้ผลและผลผลิตมะพร้าวลดลงจาก 1.536 ล้านไร่ เมื่อปี 2551 เป็น 1.316 ล้านไร่ ในปี 2556

ปี 2557 คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้ผลผลิต 1.031 ล้านไร่ และผลผลิตลดลงจาก 1.484 ล้านตัน ในปี 2551 เหลือ 1.058 ล้านตัน ในปี 2556 ส่วนปี 2557 คาดว่าจะมีผลผลิต 1.072 ล้านตัน

ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ว่า ผลผลิตมะพร้าวส่วนใหญ่ใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมะพร้าวร้อยละ 5 และใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูป ร้อยละ 35 ส่วนการส่งออกมะพร้าวผลแก่ และเนื้อมะพร้าวแห้งมีจำนวนไม่มากนัก

ที่น่าเป็นห่วงและหลายคนอาจคิดไม่ถึงคือ ผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งถูกโค่นทิ้งไปปลูกพืชอื่น ทั้งเกิดปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว นอกจากจะทำให้ราคามะพร้าวปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามา

สำหรับการบริโภคทดแทนอีกด้วย โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 99.65 นำเข้าจากอินโดนีเซีย ซึ่งราคาถูกกว่าไทย และส่วนหนึ่งนำเข้าเพื่อผลิตเป็นกะทิกระป๋องส่งออกไปสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ นอกนั้นส่งออกเป็นมะพร้าวฝอยไปตุรกี ส่งออกเป็นน้ำมะพร้าวไปเมียนมา ฮ่องกง เป็นต้น

ตัวเลขจากการสำรวจเมื่อปี 2555 แหล่งผลิตมะพร้าวสำคัญ ๆ ของไทย ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4.2 แสนไร่ ชุมพร 2.1 แสนไร่ สุราษฎร์ธานี 2.1 แสนไร่ ชลบุรี 6.4 หมื่นไร่ นครศรีธรรมราช 9.9 หมื่นไร่ และอื่น ๆ 2.6 แสนไร่ รวมทั้งประเทศ 1.3 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันอาจน้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีแนวโน้มลดน้อยลงต่อเนื่อง

ล่าสุด ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2561-2564 และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 3 ต.ค. 2560 ให้เดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์หลักส่งเสริมการผลิต การบริโภค และการตลาดมะพร้าวไทย

แยกเป็น 1.การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการผลิตมะพร้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม คือมีผลผลิตมะพร้าวไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี

2.พัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว 3.พัฒนาการแปรรูปมะพร้าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่ม 4.แผนด้านการตลาด รักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าวให้เหมาะสมเป็นธรรมทั้งกับเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการส่งออก 5.พัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มะพร้าว จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการพิสูจน์

แต่อย่าลืมจับตาประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย เจ้าแห่งการผลิตมะพร้าว ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา ระบุว่า กำลังเร่งส่งเสริมพัฒนาการผลิตมะพร้าวขนานใหญ่

โดยเขตปกครองท้องถิ่นทั่วอินโดนีเซียได้รวมตัวกันภายใต้พันธมิตรรัฐบาลเขตปกครองท้องถิ่นที่ปลูกมะพร้าว เป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าว และมุ่งเน้นการจัดการสวนมะพร้าวแบบมืออาชีพมากขึ้น ในจำนวนนี้มีเขตปกครองท้องถิ่น 248 แห่ง จากทั้งหมด 514 แห่งของอินโดนีเซีย ที่เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวมีหลายภารกิจที่ต้องดำเนินการ ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลมะพร้าว การปรับปรุงเทคนิคการปลูกมะพร้าว ที่ส่วนใหญ่ถูกปลูกโดยไม่ใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม โดยรัฐบาลอินโดนีเซียให้เงินอุดหนุนเรื่องปุ๋ย การจัดงบประมาณปลูกมะพร้าวทดแทนต้นเดิมที่หมดอายุ การสนับสนุนส่งเสริมด้านการผลิตและการตลาดอื่น ๆ โดยมีทางการคอยติดตามช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้ดีขึ้นไปอีกขั้น

อีกไม่นานคงพิสูจน์ได้ว่ายุทธศาสตร์มะพร้าวไทย กับแผนส่งเสริมยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ปลูกมะพร้าวของอินโดนีเซีย ใครจะเวิร์กกว่ากัน