กองทุนก๊าซ ถังแตก 42 วันหลังตรึงราคา

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันในส่วนของก๊าซหุงต้มกำลังเข้าสู่ภาวะคับขันอีกแล้ว เมื่อเงินจาก “กองทุนก๊าซ” ที่นำมาใช้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มขณะนี้เหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หลังจากที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตัดสินใจให้ใช้การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซเพื่อตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้ขยับขึ้นไปอีก

โดยวิกฤตการณ์ก๊าซหุงต้มปรับราคาขึ้นนั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยราคาก๊าซหุงต้ม (ถัง 15 กก.) ในประเทศขณะนั้นได้ปรับขึ้นราคาไปถึงถังละ 395 บาท (24 พ.ค. 61) ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงพลังงาน ตัดสินใจที่จะต้อง “ตรึง” ราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก.ไว้ไม่ให้เกิน 363 บาทต่อถัง (นี่ก็กลายเป็นเรื่องย้อนแย้ง หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดเสรีราคาก๊าซ) เท่ากับมีส่วนต่างอยู่ถึง 32 บาท/ถัง ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กองทุนก๊าซ” จะต้องหาเงินมาจ่าย “ชดเชย” ให้กับผู้ค้าก๊าซ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม หลังจากที่ กบง.มีมติให้ตรึงราคาก๊าซภายในประเทศได้เพียง 2 วัน กองทุนก๊าซมีเงินคงเหลืออยู่ 591 ล้านบาท (รายได้ 5,529 ล้านบาท-รายจ่าย 4,938 ล้านบาท) จนล่าสุด ณ วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองทุนก๊าซมีเงินคงเหลือแค่ 10 ล้านบาท (รายได้ 3,248 ล้านบาท-รายจ่าย 3,238 ล้านบาท) เท่านั้น เท่ากับเพียง 42 วันที่ตรึงราคาก๊าซภายในประเทศ กองทุนก๊าซต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคาให้กับผู้ค้าก๊าซไปเกือบหมดเกลี้ยง สาเหตุสำคัญที่เงินกองทุนก๊าซถูกใช้จ่ายหมดลงอย่างรวดเร็วน่าจะมาจากราคาก๊าซในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง กับสถานะกองทุนก๊าซย่ำแย่มาแล้วตั้งแต่ต้น

เรื่องราวทั้งหมดนี้ “กระทรวงพลังงานก็รู้ กบง.ก็รู้” มาตั้งแต่มีมติให้ตรึงราคาก๊าซภายในประเทศแล้ว จากถ้อยแถลงปลอบใจประชาชนที่ว่า “กบง.คาดการณ์ว่า ราคา LPG ในตลาดโลกในช่วงฤดูร้อนนี้จะลดลงสู่ภาวะปกติเป็น 353 บาท/ถังในระยะต่อไป” ทว่าฤดูร้อนของ กบง.จะมาถึงในอีก 10 เดือนข้างหน้า ซึ่งเงินกองทุนก๊าซมีเหลือเพียงแค่ 591 ล้านบาทจนไม่มีทางที่จะยืนระยะการชดเชยไปถึงตอนที่ราคาก๊าซช่วงฤดูร้อนจะลดลงมาได้ และยังไม่นับความเสี่ยงที่ราคาก๊าซอาจจะขยับขึ้นสูงอีกในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

กลายเป็นการบริหารจัดการด้านพลังงานที่ขึ้นอยู่กับ “ความไม่แน่นอน” จากความเชื่อที่ว่า ราคาก๊าซในตลาดโลกไม่น่าจะขยับขึ้นสูงไปกว่านี้อีกแล้ว รวมไปถึงการ “โยก” เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีเงินคงเหลือสุทธิ ณ วันที่ 8 กรกฎาคมอยู่ที่ 29,909 ล้านบาทมาให้กับกองทุนก๊าซ ใช้ชดเชยเพื่อตรึงราคาก๊าซต่อไปอีก ซึ่งไม่แน่ว่าจะทำได้ เนื่องจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เก็บจากผู้บริโภคที่ใช้น้ำมัน ไม่ใช่ก๊าซ

สุดท้ายจะกลายเป็นเรื่องของ “วัวพันหลัก” หากในอีก 10 เดือนข้างหน้าเกิดวิกฤตการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นสูง ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จากสมมุติฐานที่ตั้งกันเอาไว้ว่า น้ำมันเบรนต์เกินกว่า 90 เหรียญ/บาร์เรล จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจำหน่ายเกินกว่าลิตรละ 30 บาท (มติ กบง.ให้ตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรเช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้ม) ถึงตอนนั้นอย่าว่าแต่การตรึงราคาก๊าซถังละ 363 บาทเลย แม้กระทั่งราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศก็จะเอาไว้ไม่อยู่ด้วย หากรัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงของการปรับขึ้นลงราคาก๊าซ-น้ำมัน

เนื่องด้วยไทยไม่ใช่ประเทศเศรษฐีและไม่มีแหล่งพลังงานอย่างเหลือเฟือที่จะต่อสู้กับราคาในตลาดโลกได้