ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ “กม.แข่งขันทางการค้า”

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กษมา ประชาชาติ

 

สร้างความฮือฮาไม่น้อยหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ดแข่งขันฯ) ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 มีมติให้ออกหนังสือ “คำสั่งทางปกครอง” เพื่อสั่งให้ผู้รวบรวมผลไม้ (ล้ง) รายหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี หยุดพฤติกรรมใช้อำนาจต่อรองเหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรมเกิดผลเสียหายต่อธุรกิจ ถือว่าเป็นเคสประวัติศาสตร์ที่บอร์ดแข่งขันฯอาศัยอำนาจภายใต้ตามมาตรา 60 ตามกฎหมาย “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560” ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม แทน “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542” ที่บังคับใช้มายาวนาน 18 ปี แต่ไม่เคยเอาผิดรายใดได้เลย

โดยไฮไลต์สำคัญของกฎหมายใหม่ฉบับนี้ คือ “ความอิสระปลอดการเมือง” จากการแยก “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระจากเดิมที่สำนักงานนี้อยู่ภายใต้สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และปรับให้มีการสรรหาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยผ่านกระบวนการสรรหาอย่างอิสระจากเดิมที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และแต่งตั้งกรรมการขึ้นมา นอกจากนี้ ยังได้ “เพิ่มความเข้มข้น” ในกฎหมายเพื่อแก้ไขจุดอ่อนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 18 ปีก่อน

และโดยไม่เพียงกำหนดกระบวนการสรรหาอย่างอิสระเท่านั้น แต่ยังได้กำหนด “คุณสมบัติต้องห้ามพิเศษ” ขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนดให้กรรมการแข่งขันจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนที่มีอำนาจจัดการใน หจก.หรือผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนทั้งหมดในบริษัทใด ไม่เป็นข้าราชการประจำ/พนักงาน/ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ/ราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ หรือไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในสถาบันหรือสมาคมธุรกิจ หากเป็นต้องลาออกใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเลือก ถือเป็นตะแกรงที่ช่วยป้องกันนอมินีภาคธุรกิจซึ่งอาจจะแฝงเข้าร่วมระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นโต้แย้งว่าการกำหนดคุณสมบัติที่เข้มงวดอาจกลายเป็นการจำกัดให้ผู้สนใจเข้าร่วมสมัครน้อยราย หรือกระจุกเพียงบางกลุ่ม

แต่ทว่า ล่าสุดหลังจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เปิดรับสมัครผู้สนใจที่จะเข้ารับคัดเลือกเป็นกรรมการแข่งขันทางการค้า ปรากฏว่ามีผู้มาลงสมัครมากถึง 26 คน มาจากหลากหลายวงการ แต่ที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มอดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่ลงแข่งขันมากถึง 6 คน นอกจากนั้น ก็มีบุคคลจากวงการการเมือง นักวิชาชีพ ตัวแทนสมาคมการค้า โดยขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาที่เปิดให้ยื่นคำคัดค้านผู้สมัครตั้งแต่วันที่ 3-18 กรกฎาคม 2561 ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน 100 เต็ม แบ่งเป็นคะแนนความเชี่ยวชาญ/ประสบการณ์ในสาขา 20% และคะแนนด้านความรู้ วิสัยทัศน์ที่แสดงต่อหน้าคณะกรรมการสรรหาอีก 80% จากนั้นจะนำคะแนนมาบวกรวมกัน โดย 7 คนแรกที่มีคะแนนสูงสุดคือผู้ชนะการคัดเลือก ซึ่งจะเสนอ รมว.พาณิชย์ และรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำงานเต็มเวลา ซึ่งน่าจะไม่เกินปีนี้จะได้เห็นโฉมหน้าคณะกรรมการชุดใหม่

แต่ในระหว่างนี้ “บอร์ดแข่งขันฯ” ชุดปัจจุบันซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน จะดำเนินการไปพลางก่อนจนกว่าจะได้บอร์ดใหม่ แต่บอร์ดชุดนี้ก็ถือว่าไฟแรงไม่น้อยเพราะได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่อย่างเข้มข้น โดยเห็นได้ชัดจากดาบแรกการออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้ประกอบการล้งยุติพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หากยังไม่หยุดพฤติกรรมจะมีโทษความผิดปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท และถ้าไม่หยุดพฤติกรรมปรับอีกวันละ 3 แสนบาท และให้มารายงานตัวต่อสำนักงานแข่งขันฯภายใน 5 วันนับจากวันได้รับหนังสือคำสั่งทางปกครอง

เชื่อมั่นว่าในอนาคตหากฟอร์มทีมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าครบเมื่อไร ดีกรีการบังคับใช้กฎหมายนี้จะมีความเข้มข้นและสร้างความชัดเจนในประเด็นคลุมเครือต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่อง “การควบรวมธุรกิจ” และเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ค้าที่มีพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดจำกัดการแข่งขันเสรีหรือเป็นธรรม โดยกำหนดเงื่อนไข “ฮั้ว” กันทั้งแบบฮั้วอ่อน ๆ (มาตรา 55) อย่างการลดคุณภาพสินค้าหรือบริการ แต่งตั้งบุคคลในเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายหรือฮั้วรุนแรง (มาตรา 50) เช่น กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข จำกัดปริมาณสินค้า ก็จะมีลำดับความรุนแรงของโทษตามความผิด

ถือเป็นกติกาที่ไทยเข้าใกล้ความเป็นสากล และเป็น “ความหวัง” ในการปกป้องธุรกิจและยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมภายในประเทศมากยิ่งขึ้น