ของแถมที่ไม่อยากได้

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

 

เป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ สำหรับการเรียกเก็บคืนยา “วาลซาร์แทน” ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง 5 ตำรับ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศเมื่อช่วงสาย ๆ วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมสั่งให้บริษัทผู้ผลิตระงับการผลิตและจำหน่ายยาและเคมีภัณฑ์ดังกล่าวด้วย

5 ตำรับยาดังกล่าวเป็นของบริษัท สีลมการแพทย์ จำกัด 2 ทะเบียนตำรับ คือ VALANTAN 80 และ VALANTAN 160 ส่วนอีก 3 ทะเบียนตำรับ เป็นของบริษัท ยูนีซัน จำกัด ประกอบด้วย VALSARIN 80, VALSARIN 160 และ VALSARIN 320

เนื่องจากยาทั้ง 5 รายการนี้ใช้วัตถุดิบตัวยาสำคัญ Valsartan จากแหล่งผลิต Zhejiang Huahai Pharmaceuticals ประเทศจีน เนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การยาสหภาพยุโรป ได้มีการแจ้งเตือนเรื่องนี้ไปยังบรรดาสมาชิก และเป็นที่มาให้ 22 ประเทศในอียู ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฯลฯ เรียกเก็บคืนยาวาลซาร์แทนออกจากตลาดและระงับการผลิตการจำหน่าย

ใครที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คงจะตุ๊ม ๆ ต้อม ๆ ใจไม่ดีไปตาม ๆ กัน

ทันทีที่เห็นข่าวนี้แพร่สะพัดในโลกโซเชียล คนที่เป็นโรคนี้อยู่คงรีบควักกระเป๋ายาขึ้นมาตรวจสอบกันจ้าละหวั่น เพราะเกรงว่าจะโดนแจ็กพอตเข้าให้

เบื้องต้นแพทย์-เภสัชกร ให้คำแนะนำว่า หากกินยาตัวใดตัวหนึ่งใน 5 ตัวอยู่ก็ควรหยุด และรีบไปติดต่อโรงพยาบาลเอายาที่ว่าไปคืนและรับยาตัวใหม่มากินแทน

ในแวดวงการแพทย์ต่างรับรู้กันดีว่า ประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยประเมินเอาไว้ว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 11-12 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 60-70% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นที่สำคัญ

โรคความดันโลหิตสูง ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคไตวาย และอีกสารพัดโรค

เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร จนได้รับสมญาว่า “ฆาตกรเงียบ”

วกกลับมาเรื่องการเรียกเก็บคืนยา เท่าที่ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา อย.ได้ทำหนังสือถึงบริษัท สีลมการแพทย์ และยูนีซัน ให้เรียกเก็บคืนยาจากท้องตลาดและส่งมอบให้ อย.เพื่อทำลายภายใน 15 วัน และสั่งให้ระงับการผลิตและจำหน่ายยาดังกล่าวด้วย

ตามหลักการแล้ว การเรียกเก็บคืนยาที่เกิดขึ้น บริษัทจะต้องคืนเงินให้โรงพยาบาลหรือในกรณีที่โรงพยาบาลซื้อยามาทดแทนแล้วมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น บริษัทยาก็จะต้องชดเชยให้เช่นกัน

ก่อนปิดต้นฉบับ (17 กรกฎาคม) ผมโทรศัพท์ไปคุยกับโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง ทราบว่าที่ผ่านมาบางแห่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหานี้มาตั้งแต่องค์การยาสหภาพยุโรป ได้มีคำเตือนเรื่องนี้ออกมา โดยมีการสอบถามไปยังผู้แทนจำหน่ายยา-บริษัทยาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมจัดซื้อยาตัวอื่นหามาให้ผู้ป่วยเพื่อทดแทนยาทั้ง 5 ตำรับ

ล่าสุด ตอนนี้ห้องยา-เภสัชกรต้องทำงานเชิงรุกกันอย่างหนัก ด้วยการโทรศัพท์ไปประสานกับคนไข้และแจ้งให้นำยาที่ถูกเรียกเก็บมาคืนและจ่ายยาตัวใหม่ให้แทน หรือหากคนไข้โทร.เข้ามาสอบถามก็จะแจ้งให้รีบนำยาคืนและรับยาตัวใหม่ไปกินแทน

แต่ก็น่าจะมีคนไข้อีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้ข่าวคราวเกิดขึ้น เพราะอยู่ไกลปืนเที่ยงหรือโรงพยาบาลไม่สามารถติดต่อได้

กินยารักษาความดันอยู่ดี ๆ แต่กลับจะได้โรคมะเร็งแถมมาเพิ่มของแถมแบบนี้คงไม่มีใครอยากได้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า งานนี้จะมีการฟ้องร้องกันตามมาหรือไม่