เร่งแก้เศรษฐกิจฐานรากป่วยเรื้อรัง

บทบรรณาธิการ

นักเศรษฐศาสตร์นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2561 จะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยมีภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูงเป็นตัวชูโรง และได้เร่งหนุนจากที่รัฐบาลเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ฯลฯ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ไม่แปลกที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ค่อนข้างมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ตลอดทั้งปีจะเติบโตในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับเป้าการเติบโตของจีดีพีจากเดิมที่ 3.6-4.6% เป็น 4.2-4.7% สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ผ่านมาออกมาดีเกินคาด

แม้จะมีความเสี่ยงจากนอกประเทศ อย่างมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่อาจจะบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบระหว่าง 2 มหาอำนาจ กับปัจจัยลบความอ่อนไหวเปราะบางของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และหนี้สินภาคครัวเรือน เพราะแม้ยอดหนี้จะปรับลดลงแต่ยังเป็นปัญหาใหญ่กับเกษตรกรและคนในระดับรากหญ้า

ไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขจากการสำรวจของ สศช.จะชี้ว่าภาคการเกษตรขยายตัว 6.5% แต่เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย กุ้ง สับปะรด ฯลฯ ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบทำให้รายได้และกำลังซื้อของเกษตรกรและคนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่องยังฟุบไม่ฟื้น

สะท้อนให้เห็นว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณก้อนโตจัดทำมาตรการโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกร และคนยากจน แต่ผลในทางปฏิบัติยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องขันนอตซ้ำ ขีดเส้นให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสปีดทำงานในช่วงเวลา 7-8 เดือนจากนี้ไป

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอแพ็กเกจช่วยเหลือ อาทิ โครงการพักหนี้ ลดภาระหนี้เกษตรกร โครงการปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยรัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตและประกันราคา ควบคู่กับยกระดับราคาข้าว ลดพื้นที่ปลูกยางพารา แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวทางแก้แบบเดิม ๆ จนน่าห่วงว่าจะล้มเหลวซ้ำ

หัวใจหลักจึงอยู่ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิดและบูรณาการทำงานอย่างไรให้การผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติสัมฤทธิผล พลิกภาคเกษตรหนุนเศรษฐกิจฐานรากที่อ่อนแรงจากอาการป่วยเรื้อรังให้กลับมาฟื้น