โตโยต้า 56 ปี ทำคลอด 10 ล้านคัน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

 

11 ก.ค.ที่ผ่านมา ค่ายโตโยต้าฉลองความสำเร็จ หลังจากเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเมื่อ 56 ปีก่อน จนสามารถผลิตรถยนต์ครบ 10 ล้านคัน

รถยนต์คันที่ 10 ล้านคลอดจากสายการผลิตที่โรงงานโตโยต้า สำโรง สมุทรปราการ คือ โตโยต้า ไฮลักซ์ “รีโว่ ร็อคโค่”

ประเทศไทยต้องขอขอบคุณโตโยต้าที่วางใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่

วันก่อนเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมที่ร่วมฉลองความสำเร็จก็ได้กล่าวชื่นชมโตโยต้า

อย่างแรกคือ ใช้เม็ดเงินลงทุนในการผลิตรถยนต์หลายโครงการ ตั้งแต่โปรดักต์แชมเปี้ยนตัวแรก ปิกอัพ ตามมาด้วยโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่สอง อีโคคาร์

และกำลังจะพัฒนาโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 คือรถอีวี ด้วยการทุ่มเม็ดเงินกับโรงงานแบตเตอรี่เป็นรายแรกเกือบ 20,000 ล้านบาท

แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเติบโตเคียงคู่พร้อมสังคมไทย และตอบรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โตโยต้าแบ่งความสำเร็จออกเป็น 6 ยุคด้วยกัน

ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ถึงวันนี้มีโรงงานผลิต 3 แห่ง ได้แก่ สำโรง, เกตเวย์ และบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

1.ยุคก่อร่างสร้างฐาน ระหว่าง พ.ศ. 2505-2515 ใช้โรงงานสำโรงประกอบรถรุ่นแรกคือ โตโยต้า ไดน่า เจเค 170 และโคโรน่า อาร์ที 40

ตามด้วยไฮลักซ์ อาร์เอ็น 10 และโคโรลล่า เคอี 20 ด้วยอัตราการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 25

ถัดมายุคที่ 2 คือ ยุคแห่งการพัฒนา ระหว่าง พ.ศ. 2516-2525 ด้วยการขยายกำลังการผลิต ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 2 ใน ต.สำโรงใต้ จ.สมุทรปราการ

เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีประกอบโดยใช้สายพาน และโรบอตอัตโนมัติเชื่อมตัวถัง เพิ่มระบบเคลือบสีป้องกันสนิม แคทไอออนอีดีพี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนสามารถผลิตรถครบ 100,000 คันในปี 2523

ยุคที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2526-2535 ยุคแห่งผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ ตั้งบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตเครื่องยนต์ที่โด่งดัง คือ ทวินแคม 16 วาล์ว เป็นรายแรกของประเทศในรุ่น “โคโรลล่า เออี 92” ทำให้สามารถประกอบรถยนต์ได้ครบ 500,000 คันในปี 2535

ยุคที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2536-2545 เปิดโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง และปี 2539 สามารถผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน ด้วยกำลังการผลิตจาก 3 โรงงานหลัก

ช่วงนั้นมีการแนะนำเครื่องยนต์ระบบวาล์วอัจฉริยะ VVT-I ครั้งแรกใน “โคโรลล่า อัลติส”

และเปิดตัวรถ “โตโยต้า โซลูน่า” รุ่นแรก ที่วิศวกรชาวไทยมีส่วนร่วมในการออกแบบและใช้ชิ้นส่วนประกอบภายในประเทศกว่า 70%

ยุคที่ 5 ยุคเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ระหว่าง พ.ศ. 2546-2555 ยุคนี้ได้รับการยกระดับให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกหลักของรถกระบะขนาด 1 ตัน ภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-purpose Vehicle) มีกระบะ “ไฮลักซ์” และพีพีวี “ฟอร์จูนเนอร์” เป็นหัวหอก

ยุคนี้ยังได้ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ขึ้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ และส่งออกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้โตโยต้าสามาถผลิตรถยนต์ได้ครบ 5 ล้านคันในปี 2553

ยุคที่ 6 ยุคนวัตกรรมแห่งความยั่งยืน ระหว่าง พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน มีการแนะนำยาริส เอทีฟ อีโคคาร์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และโตโยต้า C-HR ที่มาพร้อมกับ 4 เทคโนโลยีใหม่มาตรฐานระดับโลกของรถโตโยต้า

ได้แก่ 1.ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นที่ 4 2.สถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ 3.มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ระดับโลกและ 4.ติดตั้งระบบทีคอนเนกต์ ระบบที่เชื่อมต่อรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียว

เหล่านี้คือ ความสำเร็จของโตโยต้า ที่หาคนลอกเลียนแบบได้ยาก