การจัดเก็บภาษีลาภลอย กับแนวทางปฏิรูประบบภาษีระยะยาว

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ [email protected]

 

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …. หรือภาษีลาภลอย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา กำลังเป็นที่สนใจและถูกหยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีลาภลอย ต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม

สาระสำคัญของร่างกฎหมายในเบื้องต้นจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมีสูงสุดไม่เกิน 5 กิโลเมตรรอบโครงการ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย พบว่าอยู่ที่ประมาณ 17-18% โดยเศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ มีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป การจัดเก็บภาษีลาภลอยจึงจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐ

แต่เนื่องจากสังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่ และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ

รัฐบาลจึงควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอย เพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ไม่ว่าจะเป็นโครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น ขณะที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในส่วนของรายได้จากการจัดเก็บภาษีลาภลอย ควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้า

รัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนอย่างปัจจุบัน การใช้มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมีข้อจำกัดมากขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจึงต้องมุ่งไปที่การใช้มาตรการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการ ขณะที่กฎหมายภาษีมรดกแม้จะมีผลบังคับใช้ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลก็แทบจะเก็บภาษีไม่ค่อยได้ เพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินบางส่วนไปต่างประเทศ ทำให้ล่าสุดรัฐบาลต้องอนุมัติในหลักการร่างกฎหมายทรัสต์ เพื่อจัดการทรัพย์สินเพื่อช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ

ที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ ให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี เพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ และหากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี หรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐก็สามารถดูแลสวัสดิการกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยนี้ โดยนำเอามาตรการรายจ่ายด้านสวัสดิการมาผูกกับระบบภาษีได้ด้วย เพราะเมื่อมีฐานข้อมูลก็จะสามารถใช้มาตรการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย (negative Income tax) ได้

ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอีกทางหนึ่ง เนื่องจากในเวลาที่มีรายได้น้อยหรือยากจน ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี จะได้รับเงินโอนช่วยเหลือ ในอนาคตเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นเข้าเกณฑ์การเสียภาษีก็จะเข้าสู่ระบบเสียภาษีโดยอัตโนมัติ การมีรายได้ของคนไทยอย่างชัดเจนทำให้การจัดสวัสดิการและการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รัฐควรไปศึกษาการปฏิรูปภาษีให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการ ระบบการชำระเงินเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และเว็บไซต์ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษี และบางครั้งก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ จากความซับซ้อนของธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเหล่านี้ แต่การจะแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลก และต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ ต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลดความเป็นระบบราชการของกรมจัดเก็บภาษี โดยปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ (semiautonomous revenue agency) เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา และรองรับการจัดเก็บภาษีทั้งระบบในระยะยาวด้วย