ความ “เหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษา

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

ไม่กี่วันผ่านมามีโอกาสแทรกตัวเข้าไปนั่งฟังการบรรยายเรื่อง “โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย” ซึ่งมี “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นองค์ปาฐก ภายในงานฉลองครบรอบ 4 ปีของ นิตยสารอีลิท พลัส

ซึ่งเนื้อหาที่ “อานันท์” บรรยายมีหลายเรื่องที่น่าสนใจมาก

โดยเฉพาะเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษา

“อานันท์” บอกว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในด้านการศึกษา และเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กยากจน ผมยินดีที่ได้ทราบว่าพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้

“นอกจากนั้นการวิจัยของยูนิเซฟเกี่ยวกับงบประมาณของโรงเรียนในประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความเสมอภาคในการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำที่มีสาเหตุมาจากความยากจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กในประเทศไทยไม่ได้เข้าโรงเรียน”

“ที่สำคัญ ผลการวิจัยยังเสนอให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในครอบครัวที่ยากจนและโรงเรียนที่มีเด็กยากจนเข้าเรียนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างโรงเรียนที่มีผลการเรียนของนักเรียนดี กับโรงเรียนที่มีผลการเรียนของนักเรียนยังไม่ดี”

ผมฟังแล้วรู้สึกเห็นด้วย

เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกัน เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโรงเรียนในเมืองกับต่างจังหวัดเท่านั้น หากโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนตามตะเข็บชายแดนตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยก็ต่างประสบปัญหานี้เช่นกัน

ไม่นับโรงเรียนของเด็กข้ามชาติที่พ่อแม่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทย ประเด็นตรงนี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคการศึกษาของไทย รวมถึงรัฐบาลไทยต้องตระหนักอย่างมาก

ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะหลังจากฟัง “อานันท์” บรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขายังเสนอทางออกในมุมมองความคิดของตัวเองว่า ภาครัฐจะต้องเดินหน้าทำในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างน้อย 3 ประการคือ

หนึ่ง เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใด หรืออาศัยอยู่ที่ไหน ต่างมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะให้ความรู้และทักษะเพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

สอง การศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่จะเปลี่ยนแปลงในแง่ของการให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อบุคคลและสังคม

สาม ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และมีประชากรที่เป็นเยาวชนลดลง ดังนั้นการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้พวกเขาได้ตอบแทนสังคม และสนับสนุนภาระการพึ่งพาที่เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น

“ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเด็กที่เกิดในวันนี้คือเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีอัตราการพึ่งพิงแรงงาน เพียงแค่แรงงาน 1.7 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน เทียบกับในปัจจุบันที่แรงงาน 6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน”

อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

นอกจากนั้น “อานันท์” ยังพูดถึงการปฏิรูปหลักสูตรของโรงเรียน โดยเขามองว่า ควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงต้องให้ความสำคัญแก่วิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพราะวิชาเหล่านี้ต่างเป็นวิชาที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับโลกแห่งการทำงานในอนานคตได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการผลักดันระบบการศึกษาจะต้องคู่ขนานไปกับการศึกษาธุรกิจ ด้วยการออกแบบดีไซน์หลักสูตรให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในชีวิตจริงได้

ยิ่งปัจจุบันโลกธุรกิจเข้ามาขับเคลื่อนโลกการศึกษาอย่างแยกกันไม่ออก ดังนั้นถ้าหากระบบการศึกษาของไทยสามารถออกแบบหลักสูตรเหล่านี้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง การศึกษาของไทยจะผลิบานมากกว่านี้

แม้ปัจจุบันจะมีหลายมหา”ลัยทำแล้วก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอ

“อานันท์” บอกว่า ควรจะต้องเพิ่มปริมาณมากกว่านี้ ยิ่งถ้าเป็นไปได้ควรจะสอดแทรกเข้าไปอยู่ในระดับประถม มัธยมด้วยยิ่งดี เพราะโลกทุกวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง “การเรียนรู้” และ “ความเท่าเทียม” ให้เสมอภาคกัน

จะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาอีก

ที่สำคัญ เรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ” ต่างเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เพราะเรื่องนี้เป็น 1 ใน 17 เป้ามองของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)

ผมฟังแล้วเห็นด้วยทุกประการครับ