มหกรรม “งานวิจัยแห่งชาติ” พัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

ระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จะจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561” (Thailand Research Expo 2018) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม ด้วยกลไกการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับประเทศ

โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ส.ค. 2561 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 วันของการจัดงาน แบ่งเป็น ภาคการประชุมและเวลาสัมมนาทั้งขนาดใหญ่ขนาดกลางรวม 4 รูปแบบมากกว่า 100 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ หัวข้อสำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ควรเร่งแก้ไข การประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่องในประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจ และถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย

ภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์

นิทรรศการผลงานวิจัย และกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศ กับ “นวัตกรรมจากงานสร้างสรรค์” และ “ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่” นิทรรศการผลิตผลองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนสังคม นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา

นอกนั้นมีกิจกรรม Thailand Research Symposium 2018 การจัดกิจกรรม Highlight Stage กิจกรรมการให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย กิจกรรมมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2561

ธีมการนำเสนอจัดเป็น 9 ธีม ได้แก่ 1.ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนายุทโธปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการพึ่งพาตนเองและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือการก่อการร้ายและภัยคุกคามต่าง ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตรวจ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ช่วยเหลือ และบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ การพัฒนานวัตกรรม วัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นเมื่อประเทศเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือวิกฤต การบริหารจัดการโทรคมนาคมระดับชาติ การลักลอบเข้าเมือง ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ

2.ครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการเกษตรสมัยใหม่สำหรับพืช สัตว์เศรษฐกิจ อาหารมูลค่าเพิ่มสูง ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ผลิตภัณฑ์แปรรูป การพัฒนาชุดตรวจด้านเกษตรและอาหาร การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของตลาดหรือเพื่ออุตสาหกรรม ฯลฯ

3.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม รูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

4.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนากลไกการกระจายความเจริญ และยกระดับรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากชุมชน การสร้างระบบต้นแบบเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้ ระบบสวัสดิการสังคมที่เข้าถึงได้ง่ายของคนทุกวัน รวมทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส

5.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนายา เครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ อาหารทางการแพทย์ ฯลฯ

6.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ การพัฒนาพลังงานทดแทน การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ การสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ฯลฯ

7.การพัฒนาเทคโนโลยีในการประเมิน บำบัด ฟื้นฟู จัดการ ของเสียและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

8.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบดิจิทัลที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมผลิตและบริการ รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ บิ๊กดาต้า และการเชื่อมโยง

และ 9.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์สมัยใหม่ เทคโนโลยีสำหรับการคมนาคมที่สะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอุบัติเหตุทางการจราจร ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง การเดินทาง และการสื่อสาร การพัฒนาโครงข่ายความเชื่อมโยงของระบบขนส่งภายในประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมการบิน เช่น การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ภาคพื้นดิน ฯลฯ การขนส่งทางราง เช่น การผลิตชิ้นส่วนรถไฟ การใช้วัสดุภายในประเทศทดแทนการนำเข้า ระบบจัดการเส้นทางและมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยหันมาสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดลใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” ไปสู่เป้าหมาย ยกระดับเศรษฐกิจสังคมไทยให้ก้าวไปอีกขั้น

“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” จึงถือเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ใหญ่…พลาดไม่ได้