ทางวิบากประมูลคลื่น

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ


ยังหายใจไม่ทั่วท้องสำหรับ “กสทช.” กับการประมูลคลื่นรอบใหม่ที่กำหนดให้ผู้สนใจยื่นซองในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ท่ามกลางความหวั่นใจว่ามีสิทธิ์เข้าอีหรอบเดิมเหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่

ยังไม่ถึงวันที่ 8 ส.ค.ก็ยังต้องลุ้นกันไป

แม้ว่าในการประมูลรอบนี้จะมีความแตกต่างไปจากครั้งที่แล้ว ตรงที่มีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้น่าจูงใจมากขึ้นกว่าเดิม (ในมุม กสทช.) โดยเฉพาะกับคลื่น 1800 MHz ที่แต่เดิมแบ่งประมูลเป็น 3 ใบอนุญาต คือใบละ 15 MHz แต่ปรากฏว่า ทั้ง 3 ค่ายมือถือพร้อมใจกัน “เท” ไม่มีใครเข้าประมูลสักราย

เป็นเหตุให้ “กสทช.” ยอมซอยใบอนุญาตออกเป็น 9 ใบเล็ก ใบละ 5 MHz ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 25 ล้านบาท (แต่ละรายประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาตหรือ 20 MHz)

ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่า แบ่งเป็นใบเล็ก 9 ใบแล้ว ระหว่าง “เอไอเอส-ทรูมูฟ เอชและดีแทค” มีใครบ้างไหมที่จะเปลี่ยนใจ

ท่าทีล่าสุดของค่ายมือถือ เห็นจะมีแค่ “ดีแทค” เท่านั้นที่แสดงท่าทีว่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ก็เป็น “ดีแทค” นั่นล่ะที่บอกเองว่าสนใจเข้าชิงคลื่น 900 MHz จนเป็นเหตุให้ “กสทช.” งัดคลื่น 900 MHz ที่มีอยู่แค่ 5 MHz ออกมาประมูลในคราวเดียวกันกับคลื่น 1800 MHz แต่พอเข้าช่วงโค้งท้ายจริง ๆ “ดีแทค” กลับแบะท่าทำทีว่าจะเปลี่ยนใจอีกรอบ

โดย “ดีแทค” ให้เหตุผลว่าข้อกำหนดเงื่อนไขในการให้ใช้คลื่นมีเรื่องที่ต้องกังวลหลายส่วนด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดที่ว่า ผู้ชนะประมูลต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่ และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ให้ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่น 850 MHz และผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางราง

แม้ “กสทช.” จะลดราคาประมูลเริ่มต้นลง 2,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าผู้ชนะประมูลมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณ แต่ “ดีแทค” มองว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการมีโอกาสสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ กสทช.ลดราคาให้

ไม่ใช่เท่านั้น ดีแทคยังกังวลกับปัญหาในทางปฏิบัติกรณีที่ต้องเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์กรองสัญญาณในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตเดิม และปัญหาทางเทคนิคและทางปฏิบัติในการติดตั้ง filter ให้กับระบบคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นระบบอะไรอีกด้วย

สารพัดข้อกังวลทั้งหลายของดีแทคในคลื่น 900 MHz ที่แม้จะเป็นแถบคลื่นความถี่ต่ำที่มีข้อดีเรื่องสัญญาณครอบคลุมกว้างไกล ซึ่งหลังคลื่น 850 MHz หมดสัมปทาน เดือน ก.ย.นี้ “ดีแทค” จะเป็นค่ายมือถือรายเดียวที่มีแต่คลื่นความถี่สูงทำให้ต้องลงทุนมากกว่าหากต้องการให้สัญญาณครอบคลุมพื้นที่เท่ากับรายที่มีคลื่นความถี่ต่ำ

ถึงอย่างนั้น สรุปของสรุปในจังหวะนี้ “ดีแทค” ยังรู้สึกว่าการประมูลคลื่น 900 MHz เริ่มไม่น่าสนใจ ต่างไปจากคลื่น 1800 MHz หลัง “กสทช.” ยอมแบ่งใบอนุญาตออกเป็นใบย่อย ๆ 9 ใบ จึงอยู่ระหว่างการตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะเข้าประมูลใบอนุญาตด้วยสักใบสองใบ

ก็ต้องดูกันไป

ขณะที่ “เอไอเอสและทรูมูฟ เอช” สงวนท่าทีที่จะให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการประมูลคลื่นรอบนี้ ไม่ว่าจะเป็น 900 MHz หรือ 1800 MHz 

โอกาสที่จะซ้ำรอยครั้งก่อนมีสูงยิ่ง ซึ่ง “กสทช.”รู้สถานการณ์ดีจึงยอมเพิ่มเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz รอบล่าสุด ที่กำหนดให้ผู้ชนะที่เสนอราคารวมสูงสุดเลือกบล็อกคลื่นที่จะขอรับใบอนุญาตได้ก่อน แต่ต้องไม่เลือกแถบคลื่นที่ทำให้ผู้ถือครองคลื่นเดิมและเป็นผู้ชนะไม่สามารถใช้คลื่นที่ติดกับย่านเดิมได้

ยอมปรับแล้วปรับอีกขนาดนี้แล้วจะเปลี่ยนใจใครให้เข้าประมูลได้บ้าง

“กสทช.” ยังต้องลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย