ปัญหาแรงงาน ยังไม่จบง่าย ๆ

คอลัมน์สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม วันสุดท้ายของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน ไม่มีเอกสารการจ้างงาน ที่กระทรวงแรงงานเปิดให้ลงทะเบียนให้ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เช้าวันที่ 8 สิงหาคม ระหว่างที่นั่งปิดต้นฉบับ ตามข่าวที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน สรุปตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังรอตัวเลขการยื่นลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่ปิดรับยื่นในเวลา 24.00 น.

เบื้องต้นคาดว่าจะมียอดรวมทั้งสิ้น 7.5 แสนคน

พร้อมกันนี้ ท่านปลัดยังระบุว่า ตัวเลขนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจะมีประมาณ 7-9 แสนคน

จากก่อนนี้กระทรวงแรงงานเคยคาดการณ์ว่า จะมีแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาลงทะเบียนประมาณ 1.5 ล้านคน

โดยยอดแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนมากสุด คือเมียนมา 402,542 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 203,732 คน และลาว 88,355 คน

หลังมาตรการผ่อนผัน 15 วัน สิ้นสุดลง เชื่อว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังตกค้าง ตกหล่นไม่ได้มาลงทะเบียนให้ถูกต้อง

นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง จากนี้ไป กระทรวงแรงงานจะไม่มีการเปิดรับลงทะเบียนอีก

และจากนี้ไปจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ที่บรรดานายจ้างต้องพาลูกจ้างทั้งหลายไปพบเจ้าหน้าที่และพิสูจน์สัญชาติ ที่จะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 30 วัน (8 สิงหาคม-6 กันยายน) และขั้นตอนสุดท้าย เป็นการขอใบอนุญาตทำงาน

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนจากฟากฝั่งผู้ประกอบการ ในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามมาว่า อยากให้รัฐบาลขยายเวลาการลงทะเบียนออกไปอีก เพราะยังมีความต้องการจากทั้งฝ่ายนายจ้างและแรงงานต่างด้าว

จะว่าไปแล้ว ตัวเลข 7.5 แสนคน ที่แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียน หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มันช่างห่างกันอย่างลิบลับ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่นักวิชาการเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เมืองไทยมีแรงงานไม่ถูกกฎหมาย 2-3 ล้านคน

หรือหากเปรียบเทียบกับตัวเลขของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่มีข้อมูลว่า มีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ถูกต้องเพียง 50% หรือประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น

หากยึดตามตัวเลขนี้ คำถามต่อไปก็คือ แล้วอีก 3 ล้านคนไปไหน ?

กดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหาร หากขึ้นทะเบียน 7.5 แสนคน ก็จะเหลืออีก 2.25 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน

นี่คือ ตัวเลขแรงงานเถื่อน ที่ประเมินกันอย่างคร่าว ๆ

หรือคิดง่าย ๆ ว่า หากในจำนวน 2.25 ล้านคนนี้ หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้แรงงานต่างด้าวเกิดตื่นตระหนก เพราะมีโทษหนัก จึงขนข้าวขนของหอบลูกจูงหลานกลับประเทศไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือใจกล้ายังไม่กลับ หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ใต้ดิน

จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสอดส่องดูแล

แต่อีกด้านหนึ่งจากตัวเลขการลงทะเบียนที่มีเพียง 7.5 แสนคน อาจสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยแรงงานยังขาดอยู่

ส่วนธุรกิจใด ภาคอุตสาหกรรมใด จะขาดมากขาดน้อย กระทบมากกระทบน้อยอย่างไร คงต้องพิจารณากันไปเป็นรายธุรกิจ

หากยังไม่สามารถแก้ไข หรือบริหารจัดการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหาทางออกไม่เจอ

ผลกระทบในเชิงธุรกิจก็ย่อมจะทยอยเกิดขึ้นตามมาเป็นระลอก ๆ

เตรียมรับมือกันไว้ให้ดี