พัฒนาอย่างยั่งยืน แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ

บทบรรณาธิการ

 

การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) และเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 193 ประเทศมีมติรับรอง และถือเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกปี 2016-2030 ได้รับการขานรับ และถูกนำมาขยายผลในฐานะไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN)

เช่นเดียวกับที่นานาประเทศทั่วโลกขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนา เพื่อขจัดความยากจน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สังคม จนถึงระดับชาติ โดยยึดหลักสร้างสมดุล 3 เสาหลัก ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตามโรดแมปการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

ในส่วนของประเทศไทยนั้นกล่าวได้ว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพียงเพราะดำเนินการตามแนวทางของสหประชาชาติ แต่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นหูและรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยเน้นให้คนไทยอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองมาต่อเนื่องยาวนานตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์

สอดคล้องกับแนวทางที่สหประชาชาติสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นทางเลือกในการพัฒนาเป็นแนวคิดภายใต้หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี 2517 โดยพระราชทานเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ไม่หลงไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้กระทั่งองค์การสหประชาชาติก็ให้การยอมรับ และเชิดชูว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ เป็นทางเลือกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่นานาประเทศสามารถนำไปปรับใช้ได้

ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” กับ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป้าหมายแห่งการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ของสหประชาชาติเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ขณะที่ภาครัฐจัดทำโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐภายใต้กรอบโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน องค์กรธุรกิจก็ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านหลากหลายกิจกรรม

แต่ SDGs จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องอาศัยการสร้างการรับรู้ เข้าใจ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และเข้ามาเป็นหุ้นส่วน หรือมีส่วนร่วม การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงจึงจะสัมฤทธิผล