การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว หลังการจดทะเบียนสิ้นสุดภายใต้กฎหมายปรับปรุงใหม่

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ TDRI

 

ผู้เขียนกำลังดำเนินการวิจัยเรื่องทัศนคติของคนไทยในสังคมต่อแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับทีมวิจัยของ TDRI อีกหลายคน และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และความมั่นคง กับการที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับแรงงานข้ามชาติมากกว่า 2.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 6 ของกำลังแรงงานไทยประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลกระจายอยู่ทั่วประเทศและประกอบอาชีพที่คนไทยเคยทำมากว่า 24 กลุ่มอาชีพ (สถิติจากกรมการจัดหางาน) หลังจากที่ไทยได้บริหารแรงงานต่างด้าวมาไม่น้อยกว่า 25 ปี และผ่านการบริหารงานมาหลายรัฐบาล จากที่ได้เริ่มจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปี 2535 จากการที่ผู้เขียนคลุกคลีกับแรงงานต่างด้าวมาเป็นเวลานานในฐานะนักวิชาการแรงงานรู้สึกภูมิใจเล็ก ๆ ว่าได้ประมาณการการใช้แรงงานต่างด้าวระดับล่างว่าน่าจะอยู่ในประมาณ 2 ล้านคนเศษ ซึ่งในขณะนั้นผู้ประกอบการบางคนได้คาดการณ์แรงงานด้าวในไทยน่าจะถึง 4-5 ล้านคน ซึ่งต่างก็ได้พิสูจน์แล้วจากการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าเป็นการนำแรงงานต่างด้าวจากใต้ดินขึ้นมาบนดินได้มากที่สุด อย่างที่รัฐบาลไหน ๆ ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งมีโทษปรับอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งผู้เขียนก็ขอชมเชยรัฐบาลในปัจจุบันโดยเฉพาะการจัดระเบียบแรงงานประมงและความพยายามในการจัดการในเรื่องการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็กในสภาพที่เลวร้าย จนสามารถได้รับการปรับระดับ TIP report ให้ไทยอยู่ระดับที่ดีขึ้นเป็น Second Tier และคาดว่าจะเป็นผลดีต่อการค้าการลงทุนของไทยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานอย่าลืมว่ายังมีเรื่องอีกมากมายในการที่จะรักษาผลงานที่ดีเอาไว้ให้ได้ ซึ่งแน่นอนน่าจะยิ่งยากกว่าเดิม ปัญหาหรืออุปสรรคใหญ่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวต่อไปก็คือจะปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.ฎ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย

อย่างสัมฤทธิผลให้ได้ ซึ่งแน่นอนต้องมีผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือ นายจ้างต่างด้าวประมาณเกือบ 4 แสนคนที่จ้างแรงงานมากกว่า 24 ประเภทกิจการ ครอบคลุมคนงานต่างด้าวมากกว่า 2.2 ล้านคน กระจายอยู่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ 6 ภูมิภาคของประเทศไทย ในส่วนของภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลแรงงานต่างด้าวและนายจ้างจำนวนที่กล่าวมามากกว่า 2.6 ล้านคน คำถามคือ มีกี่หน่วยงานที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ จะบูรณาการการรับผิดชอบกันอย่างไร มีกำลังที่ได้รับมอบหมายในภารกิจที่ต้องกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคนและหน่วยงานเข้าใจกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจากผลของการศึกษาพบว่ายังมีคนที่เข้าใจกฎหมายใหม่นี้น้อยมาก

เอาแค่นายจ้าง 4 แสนคนนี้ก่อน จะต้องทำอย่างไรตามขั้นตอนของกฎหมายใหม่ ซึ่งบังคับใช้มาไม่ถึง 4 เดือน เพราะถ้าเขาผิดพลาดไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอาจจะถูกปรับถึงขั้นขาดทุน หรือต้องปิดกิจการ

ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ลองพิจารณาดูบางมาตรา เช่น เริ่มจากมาตรา 7 นายจ้างเข้าใจอาชีพที่ห้ามต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดหรือให้ทำได้อย่างมีเงื่อนไข เป็นต้น มากน้อยเพียงใดเพื่อมิให้ทำงานนอกเหนือจากสิทธิ (มาตรา 8 และ 9) มาตรา 11 นายจ้างต้องแจ้งชื่อ สัญชาติ และลักษณะงานที่ต่างด้าวทำภายใน 15 วัน และถ้าคนงานออกจากงานก็ต้องแจ้งเช่นกัน และต้องบอกด้วยว่าออกด้วยเหตุผลใด เป็นต้น ซึ่งเวลาขณะนี้ก็ล่วงเลยมาจนครบและเลย 15 วันไปแล้ว สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนไปแล้วนับล้านคน คำถามก็คือทางรัฐได้อำนวยความสะดวกอย่างไร เช่น สามารถแจ้งได้ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่น ๆ และแจ้งให้นายจ้าง 4 แสนคนได้ทราบอย่างทั่วถึงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าตอนนี้ยังแจ้งไม่ครบจะทำอย่างไร กรณีปฏิบัติเดิมผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานบางคนก็ทำหน้าที่แทนนายจ้าง บางคนก็ทำตัวเป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง แต่มาตรา 41 ดูเหมือนจะไม่อนุญาตให้ทำได้อีกต่อไป ซึ่งอาจจะกระทบผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่นายหน้าตามกฎหมายเก่า ขณะเดียวกันก็จะมีสถานประกอบการหรือนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่เคยใช้บริการแรงงานเหมาช่วงหรือเหมาค่าแรง ผลของมาตรา 41 ทางราชการได้เตรียมหาทางออกไว้หรือไม่ หรือจะให้นายหน้ากับนายจ้างไปหาทางออกกันเอง ซึ่งในกรณีนี้ก็น่าจะมีผู้ถูกกระทบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

เท่าที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่มาตราที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ซึ่งผู้เขียนจะขอตั้งข้อสังเกตในโอกาสต่อไปสำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่ก่อนจบ (1) อยากจะฝากในเรื่องของขั้นตอนการรายงานในหลาย ๆ เรื่องต่อทางราชการต้องเปลืองทั้งกระดาษและเปลืองเวลา ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง (2) ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสื่อสารในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเนื้อหาของกฎหมายใหม่ที่สำคัญ ๆ เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย เป็นสิ่งที่นายจ้างและ/หรือลูกจ้างต่างด้าวควรทราบ อาจจะในรูปของ fact sheets หลาย ๆ ภาษาให้มีการกระจายดำเนินการไปทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน


และ (3) มีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ไม่ควรกล่าวโทษกับพวกเขาส่อไปในทางเอารัดเอาเปรียบ ควรมีความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งเขาเป็นแขกบ้านแขกเมืองของเรา แถมยังไม่เข้าใจกฎหมายที่สลับซับซ้อนมีการลงโทษที่รุนแรงที่สุดฉบับหนึ่ง