พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต

คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

โดย เชอรี่ นาคเจริญ

 

กระแสเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” ทำให้องค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตนเอง เพราะรู้ดีว่าโลกรอบตัวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแค่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีมานี้ เร็วและแรงกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมามาก โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป นับตั้งแต่ “ไอโฟน” ถือกำเนิดขึ้น

10 ปีผ่านไป “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนใหญ่ คนไทย (GEN Y)

ติดหนึบอยู่กับโลกออนไลน์ผ่านมือถือมากถึง 10.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกือบครึ่งของเวลาในแต่ละวัน มนุษย์ชนเผ่าก้มหน้าพบเห็นได้ทั่วไป

โลกธุรกิจปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็น ยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า”

ยืนอยู่เฉยๆ ไม่ใช่แค่เดินถอยหลังแต่มีโอกาสล้มหายตายไปในคลื่น “ดิจิทัล” ในชั่วพริบตา เกิดขึ้นมาแล้วกับ (อดีต) บิ๊กแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายต่อหลายแบรนด์

ในอีกมุมเทคโนโลยีเปิดประตูแห่ง “โอกาส” ใหั “คนตัวเล็ก” ถ้าไอเดีย “ดีจริง-เจ๋งจริง” สามารถแปลงเป็น “ทุน” นำมาก่อร่างสร้างธุรกิจได้ไม่ยากนัก เพราะมีนักลงทุนและกองทุนทั้งในและต่างประเทศรอควักกระเป๋าร่วมลงทุนด้วยเป็นจำนวนมาก

หลายธุรกิจเกิดใหม่ โดย “สตาร์ตอัพ” ผลักดันให้บริษัทใหญ่ๆ ในธุรกิจต่างๆ ลุกขึ้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต แต่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย

กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” ของแบงก์ไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ที่ประกาศเมื่อต้นปีก็เพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ เพราะรู้ว่าหากต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างไม่สามารถทำเหมือนเดิมได้ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนหลายสิ่งตั้งแต่กระบวนการทำงานในองค์กร

สิ่งที่ภายนอกองค์กรและลูกค้าสัมผัสได้ คือการปรับปรุงโมบายแอพพลิเคชั่น “เอสซีบี อีซี่” ตามด้วยการยกเลิกสารพัดค่าธรรมเนียมเมื่อทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์แบงก์ในสายตาผู้บริโภค จาก “งก-ช้า-ห่วย” ไปสู่การเป็นแบรนด์ที่ทุกคนชื่นชอบ ในฐานะ “ไลฟ์สไตล์แบงกิ้ง”

ต้องเปลี่ยน (แปลง) ก่อนโดนบังคับให้ต้องเปลี่ยน ใช่หรือไม่ว่าความสำเร็จในอดีตไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป

ถ้าคุณเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ความสำเร็จมาจากการตัดสินใจที่ถูก การตัดสินใจที่ถูกมาจากประสบการณ์” อย่าลืมว่า “ประสบการณ์มาจากการตัดสินใจที่ผิด และการตัดสินใจที่ผิดมาจากความกล้า”

ไม่กล้า “คิด” และลงมือ “ทำ” ก็จะไม่รู้ว่า สิ่งที่คิดและทำผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่

สำหรับที่มาของไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปอันโด่งดัง BNK48 “จิรัฐ บวรวัฒนะ” ซีอีโอ บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัทบีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด บอกว่า เกิดจาก “ความกลัว”

“ผมอยู่ในธุรกิจมีเดียมา 15 ปี ตลอดระยะเวลานั้นต้องบอกว่า ธุรกิจนี้โดนดิสรัปมาโดยตลอด เราเลยเป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่น่ากลัว”

สำหรับเขา “ความกลัว” ว่าธุรกิจที่ทำอาจล้มหายไปเป็นแรงผลักให้ “คิด” แต่จะทำสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่สิ่งสำคัญมากกว่า คือต้องพิสูจน์ด้วยตนเองว่า สิ่งที่คิด-ทำได้จริงหรือเปล่า และถ้าทำแล้วไม่เวิร์กต้อง “กล้าพอ” ที่จะหยุดแล้วเดินทางใหม่อีกครั้ง

การทำธุรกิจเป็น 10 อย่าง อาจมีแค่อย่างเดียวที่ไปต่อได้

ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมต้องบอกว่า “ไม่รู้” แต่รู้อย่างเดียวว่า เพราะ “กลัว” จึง กล้าคิด-และทำสิ่งใหม่ๆ

“ผมไม่เคยทำทีวีมาก่อนก็ต้องมาทำ เพราะกลัวว่า วิดีโอ (ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว) จะหายไป ในที่สุดวิดีโอก็หายไป ต้องมาทำธุรกิจเพลง ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน วันที่คิดจะทำธุรกิจเพลงมีคนคัดค้าน แต่เพราะเรากลัว เราจึงกล้าไปต่อและคิดตลอดว่าจะทำสิ่งใหม่”

BNK48 ต่างจากค่ายเพลงทั่วไป ตรงที่ “สินค้า” ไม่ใช่ “เพลงหรือศิลปิน” แต่เป็น “ความพยายาม” ของน้องๆ ในวงที่ฝึกฝนตนเองขึ้นมา

“สิ่งที่เราทำ คือ talent management ซึ่งเป็นเรื่องของคน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าคนจะสนใจเรื่องราวของคนผ่านสื่อรอบตัวเรา โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ไลน์ คนจะเข้าไปดูเรื่องราวของคนนั้นๆ และเรากำลังนำเสนอเรื่องราวของเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง ที่มีความฝัน และความมุ่งมั่น ผ่านโซเชียลมีเดีย”

จิรัฐย้ำว่า “ดีเอ็นเอ” ของ BNK48 คือ “ความพยายาม” ของเด็กๆ บนพื้นฐานของความมุ่งมั่น และตั้งใจทำในสิ่งที่ดี น้องๆ BNK48 จึงไม่รับงานพรีเซ็นเตอร์อาหารเสริม, ยาลดน้ำหนักหรือครีมหน้าขาว และไม่มีการถ่ายแบบชุดว่ายน้ำหรือเน้นเรื่องความเซ็กซี่แต่อย่างใด

“อยากผอมต้องออกกำลังกาย อยากเก่งต้องมุ่งมั่นต้องพยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาทางลัด เพราะทางลัดคือการทำลายตัวตน ทำลายดีเอ็นเอของเรา เราผ่านช่วงเวลาที่ไม่มีคนรู้จัก ผ่านช่วงที่ไม่มีใครยอมรับ ช่วงที่ไม่มีใครเอาด้วยมาแล้ว โชคดีที่มีน้องๆ ดี มีทีมงาน มีพาร์ตเนอร์ และมีแฟนที่ดีที่อยู่กับเรา และสนับสนุนเรามาตลอด”

ในวันนี้ ยิ่งคนบอกว่าประสบความสำเร็จ ยิ่งเหมือนกำลังยืนอยู่บน “ความกลัว” เพราะหมายถึงความคาดหวังทั้งกับตัวเรา และตัวเขา ทั้งเป็นการคาดหวังแก่ตัวเด็กๆ เองด้วย

“ผมบอกตัวเอง บอกน้องๆ BNK มาตลอดว่านี่ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จหรอกนะ เอาอะไรมาวัดว่านี่คือความสำเร็จ ตอนนี้เป้าหมายของผม คือการพาน้องๆ ไปเล่นคอนเสิร์ตที่มีคนดูเป็นแสนๆ คนที่ประเทศจีนให้ได้ คาดว่าจะใช้เวลา อีก 5 ปีจากนี้”

“จิรัฐ” บอกว่า สำหรับเขา สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ ระวังว่า “จะไม่กลัว”

มุมมอง วิธีคิด และเบื้องหลังโมเดลธุรกิจ Talent management และ BNK 48 ยังมีหลากหลายแง่มุมให้เรียนรู้

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ “ให้โอกาสกับสิ่งที่ไม่รู้” และตระหนักว่า “ความรู้” ที่น่ากลัวที่สุด คือ คำว่า “รู้แล้ว”

ล็อกคิวไว้ได้เลยวันที่ 29 สิงหาคม 2561 มาพบกับ “จิรัฐ” และอีก 4 นักธุรกิจ 5 นักคิด ผู้ที่พลิกเกมการแข่งขันด้วยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองที่พร้อมจะมาบอกเล่าประสบการณ์ และมุมมองในงานสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.prachachat.net สิ่งพิมพ์ และโซเชียลมีเดียในเครือมติชน #PrachachatTheReinvention #พลิกเกมธุรกิจพลิกอนาคต TheReinvention


ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2561