ยกระดับความเชื่อมั่น “ดิจิทัลแบงกิ้ง”

บทบรรณาธิการ

จากกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทยออกมาประกาศยอมรับเมื่อช่วงค่ำวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ถูกแฮกเกอร์เจาะระบบขโมยข้อมูลลูกค้า โดยที่ธนาคารกสิกรไทยมีข้อมูลลูกค้าองค์กรประมาณ 3,000 ราย ที่ใช้บริการหนังสือค้ำประกันผ่านทางเว็บหลุดออกไป

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ข้อมูลที่ถูกแฮกส่วนใหญ่เป็นข้อมูลคำขอสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่สมัครสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อกรุงไทยผ่านช่องทางออนไลน์รวม 1.2 แสนราย ซึ่งเป็นนิติบุคคลประมาณ 3,000 ราย

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ธนาคารออกมายอมรับว่าโดนเจาะระบบคอมพิวเตอร์ขโมยข้อมูล แม้ทั้ง 2 ธนาคารจะยืนยันว่าข้อมูลที่หลุดออกไปไม่ใช่ข้อมูลสำคัญด้านธุรกรรมหรือการเงินของลูกค้า และได้ปิดช่องโหว่พร้อมยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันมากขึ้นแล้ว

แม้ว่าครั้งนี้จะยับยั้งความเสียหายไว้ได้ แต่ก็คงสั่นคลอนความเชื่อมั่นการทำธุรกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคไม่น้อย สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ เพราะจะทำให้โอกาสเรียกคืนความเชื่อมั่นของลูกค้าลดน้อยลง

โจทย์เรื่องความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ หรือ “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของสถาบันการเงินในยุคปัจจุบัน และจะมากยิ่งขึ้นในอนาคต ในยุคที่ธนาคารพาณิชย์กำลังขับเคลื่อนสู่ “ดิจิทัลแบงกิ้ง”

อัดงบฯการตลาดแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการดึงผู้ใช้บริการไปอยู่บน “โมบายแบงกิ้ง” เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกสบายได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องเดินไปสาขา และที่สำคัญช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล

อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นก็มีข้อดี เพราะถือเป็นบททดสอบระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของธนาคาร ส่งสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายเพิ่มความระมัดระวังปัญหาไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้น ทั้งสถาบันการเงินที่วันนี้ตื่นตัวหามาตรการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ รวมถึงฝ่ายกำกับดูแลอย่าง ธปท. ที่ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบระบบความเสี่ยงภัยของสถาบันการเงินภายใต้โมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม

เช่นที่ รมว.คลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” กล่าวว่า เรื่องการแฮกข้อมูลเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญต้องป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้โชคดีที่สามารถตรวจพบความผิดปกตและเร่งแก้ แต่หลังจากนี้สถาบันการเงินต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีรองรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และต้องรับผิดชอบหากมีความเสียหายเกิดขึ้น

ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องใส่ใจกับการป้องกันรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ด้วยเช่นกัน และนี่คือโจทย์ใหญ่สำหรับธุรกิจการเงินยุคดิจิทัล ที่ความเสี่ยงสำคัญและมีผลต่อรายได้ของธนาคารอาจไม่ใช่แค่ “หนี้เสีย” หรือเอ็นพีแอล แต่เป็นความเสี่ยงจากเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีทั้งคุณและโทษ