เปิดปูมพญามังกร : ภูมิรัฐศาสตร์ รถไฟไทย-อาเซียน

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ASEAN SECRET

โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช

ขณะที่ประเด็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยพุ่งเป้าไปที่การใช้อำนาจ ม. 44 ของ คสช. เพื่อรวบรัดผลักดันโครงการแบบเร่งด่วน ปริศนาที่น่าคิดต่อ คือทำไมจีนถึงต้องเร่าร้อนต่อการผันทางรถไฟมาไทยและอาเซียน และปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการคืบคลานลงใต้ของพญามังกร

แน่นอน การตอบคำถามเหล่านี้ย่อมมีหลากหลายแนวทาง แต่ที่เด่นชัดที่สุดหนีไม่พ้น “ความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์” (Geopolitical Ambition) ของจีน

ในแง่ยุทธศาสตร์ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS-Greater Mekong Sub Region) เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด “อี้ไต้ อี้ลู่” (Yi Dai, Yi Lu) หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งถนน” (One Belt, One Road) ที่สื่อถึงการเรืองอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของจีน เปิดแนวรุกทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์บนกระดานยูเรเซีย ผ่านการพลิกฟื้นเส้นทางสายไหมทางบกและทะเล

โดยจีนแบ่งระเบียงโลจิสติกส์บก ออกเป็น 6 แถบ ได้แก่ 1.เส้นทางยูเรเซียจากภาคตะวันตกจีนถึงภาคตะวันตกรัสเซีย 2.เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก 3.เส้นทางภาคตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี 4.เส้นทางจีน-อินโดจีน-สิงคโปร์ 5.เส้นทางจีน-เมียนมา-บังกลาเทศ-อินเดีย 6.เส้นทางจีน-ปากีสถาน ส่วนระเบียงขนส่งทะเล เริ่มจากชายฝั่งจีน ผ่านสิงคโปร์ มาเลเซีย มหาสมุทรอินเดียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

จากจินตกรรมภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Imagination) การประกอบกำลังเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะการประกบกันของระเบียงบกหมายเลข 4 และ 5 กับระเบียงทะเล ในส่วนที่ผ่านชายฝั่งเอเชียอาคเนย์ จำเป็นต้องสร้างทางรถไฟ พร้อมโครงข่ายโลจิสติกส์อื่น ๆ เช่น ท่าเรือและถนนนานาชาติ เพื่อเนรมิตแถบผนึก (Sealing Belt) รองรับการแปะหมุดพญามังกรลงบนแผ่นดินอุษาคเนย์

ในเอกสารสำคัญเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ อี้ไต้ อี้ลู่ ของจีน ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จีน ได้ตอกย้ำให้จีนใช้ประโยชน์จากเขตปกครองตนเองกวางสีในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิดอาเซียน พร้อมเร่งระดมพลังจากเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้และปากแม่น้ำไข่มุกเพื่อขยายแนวระเบียงโลจิสติกส์เชื่อมโยงอาเซียน และเพื่อเป็นการทอดสมอทางยุทธศาสตร์ (Strategic Anchor) สำหรับตอกหมุดเดือยหมุน (Pivot) ระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนจำเป็นต้องสถาปนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งแบบเร่งด่วน โดยปั้นให้มณฑลยูนนานเป็นแกนยุทธศาสตร์โยงภูมิภาคทั้งสองเข้าด้วยกันผ่านเส้นทางสายไหมทางบกและทะเล

ทว่าในแง่ยุทธวิธี จีนกลับพบอุปสรรคภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ริมขอบอินโดจีน อันได้แก่ เวียดนามและเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐที่มีนัยสำคัญต่อจีน ทั้งในแง่การเชื่อมต่อระเบียงบกจากกวางสีเข้ามหาสมุทรแปซิฟิก (กรณีเวียดนาม) กับการเชื่อมต่อระเบียงบกจากยูนนานเข้ามหาสมุทรอินเดีย (กรณีเมียนมา)

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองรัฐต่างพยายามลดทอนความเข้มข้นอิทธิพลของจีนลงบางส่วน ซึ่งความขัดแย้งเรื่องดินแดนและชาตินิยมในทะเลจีนใต้ กระตุ้นให้เวียดนามลังเลใจที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ากับจีน ขณะที่เมียนมาหันเข้าหาสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตกมากขึ้น หลังปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ฉะนั้นจีนจึงถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์จนต้องตัดสินใจบุกทะลวงเข้าไปในไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นแกนกลางที่ตั้งประกบกับปีกซ้ายและขวาของดินแดนอินโดจีน

ผลจากแรงรุกทางภูมิรัฐศาสตร์จีน ทำให้ปักกิ่งเริ่มพัฒนา “โครงข่ายรถไฟมหาเอเชีย” หรือ “Pan-Asia Railway Network” เป็นระยะทางราว 4,500-5,500 กิโลเมตร เพื่อโยงแนวติดต่อระหว่างจีนกับอาเซียน โดยแบ่งออกเป็นสามเส้นทางหลัก ได้แก่ 1.เส้นตะวันตก จากคุนหมิง ตาลี่ เข้าย่างกุ้ง กรุงเทพฯ แล้วออกกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ 2.เส้นตะวันออก จากคุนหมิง ฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ แล้ววกเข้าพนมเปญ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ 3.เส้นกลาง จากคุนหมิง ยู่ซี เวียงจันทน์ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์

แผนภูมิรัฐศาสตร์รถไฟนี้จะทำให้คุนหมิงและกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์หลักในอาเซียนพื้นทวีป และทำให้จีนสามารถใช้ไทย ลาว และกัมพูชาเชื่อมทะลุเข้าไปในปีกซ้ายและปีกขวาอินโดจีน ผ่านเส้นทางรถไฟสายกลางที่เชื่อมต่อกับสายตะวันตกและสายตะวันออก พร้อมกันนั้นการรุกเข้ากรุงเทพฯ ยังทำให้ทุนและวัฒนธรรมจีนไหลลงใต้สู่มาเลเซีย-สิงคโปร์ จนทำให้จีนสามารถใช้ไทยเป็นหัวหาดในการปักหมุดอินโดจีน และเคลื่อนกำลังลงอาเซียนพื้นสมุทรได้รวดเร็วขึ้น

หากจีนเนรมิตโครงข่ายรถไฟมหาเอเชียสำเร็จ ก็เท่ากับว่าเส้นทางบก จากจีนเข้าอินโดจีน-สิงคโปร์ และจากจีนเข้าเมียนมาทะลุบังกลาเทศ-อินเดีย จะถูกเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล จนทำให้พญามังกรทอดกายเลื้อยได้ถึงสามอนุทวีปและสองมหาสมุทร นั่นคือ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยการโอบล้อมเช่นนี้ ทำให้จีนมีฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) ที่แข็งแกร่งขึ้นในการรุกเข้าไปในยุโรป รัสเซีย และแอฟริกา ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักในแผนยุทธศาสตร์ อี้ไต่ อี้ลู่

ที่จริงแล้วความทะเยอทะยานภูมิรัฐศาสตร์ของจีนมิใช่จินตนาการที่ไร้หลักการ หากแต่เป็นธรรมชาติการผงาดขึ้นมาของรัฐมหาอำนาจ ซึ่งมีตัวแบบเทียบเคียงในประวัติศาสตร์ เช่น ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberia) กับการเรืองอำนาจของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตบนพื้นทวีปยูเรเซีย และ การครอบครองเมืองท่าชายทะเลกับการแผ่แสนยานุภาพกองทัพเรือของจักรวรรดิอังกฤษ

ทว่า สำหรับการเติบโตของจีนในศตวรรษที่ 21 นี้ จีนกลับใช้พลังโลจิสติกส์เพื่อผนวกอำนาจทั้งทางบกและทางทะเล จนกล่าวได้ว่า โครงการรถไฟจีนที่รัฐไทยและอาเซียนกำลังเผชิญอยู่นั้น ได้ทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในกลุ่มรัฐขนาดเล็กและรัฐขนาดกลาง ที่มีดินแดนตั้งอยู่ในเขตผลประโยชน์ของจีน ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่และมีเจตนาแน่วแน่ในการโจนทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์