นักลงทุนไทย “ชะงัก” ลาวยุติสร้างเขื่อน

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ผ่านไปเพียงแค่ 23 วันกรณีเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (saddle dam D) ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย “แตก” ที่ดูเหมือนจะ “เงียบ” หายไปจากความสนใจของคนไทย พร้อม ๆ กับคำขอบคุณของนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ต่อประชาคมนานาชาติที่เข้ามาช่วยเหลือ สปป.ลาว

ทว่า เบื้องหลังคำขอบคุณอย่างเป็นทางการดังกล่าว รัฐบาล สปป.ลาวไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์เขื่อนแตกที่เกิดขึ้น ล่าสุด ครม.ลาวสมัยวิสามัญมีการประชุมเป็นวาระพิเศษ (6-7 สิงหาคม) เพื่อรับฟัง “บทรายงาน” ของคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขภัยพิบัติระดับชาติกรณีเซเปียน-เซน้ำน้อย “แตก” พร้อมกับออก “ข้อมติ” ที่สำคัญออกมา

อีก 9 ข้อ มีสาระสำคัญให้แต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวน-สอบสวน” ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีท่านบุนทอง จิตมะนี รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อพิสูจน์และสอบค้นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขื่อนดินส่วน D แตก และยังมีการตั้งคณะรับผิดชอบตรวจตรา “ย้อนหลัง” ด้านเทคนิคและคุณภาพในการก่อสร้างและพัฒนาเขื่อนต่าง ๆ

ใน สปป.ลาว ทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้างขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยให้กระทรวงพลังงานและบ่อแร่เป็นเจ้าภาพ มีการเชิญ “ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ” เข้ามาตรวจสอบการออกแบบ-มาตรฐานการก่อสร้างเขื่อนว่า “มีความผิดปกติ” เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ที่สำคัญของมติ ครม.วาระพิเศษก็คือ รัฐบาล สปป.ลาวจะ “ยุติ” การพิจารณาโครงการก่อสร้างเขื่อนใหม่ไว้ก่อน “เป็นการชั่วคราว” ซึ่งก็ไม่รู้ว่า “จะยาวนานแค่ไหน”

ส่งผลกระทบต่อบรรดานักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนโครงการก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาวทันที ด้านหนึ่งทำให้ “กระบวนการ” ขออนุญาตก่อสร้างโครงการเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนไทยหยุดชะงักลงทันที ด้านหนึ่งโครงการที่เปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าไปแล้ว รวมถึงโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ต้องถูกตรวจสอบคุณภาพ-มาตรฐาน-ความแข็งแรงปลอดภัยจาก “ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ” ที่จะเข้ามาทำงานให้กับรัฐบาลลาว

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยของบริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้นเหตุของวิบัติภัยครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนของ 3 ฝ่าย คือ เกาหลี (SK Engineering & Construction Company ร้อยละ 26 กับ Korea Western Power Company ร้อยละ 25%) ฝ่าย สปป.ลาว (Lao Holding State Enterprise ร้อยละ 24) และฝ่ายไทย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร้อยละ 25 จะต้องถูกตรวจสอบอย่างหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมเขื่อนดินถึงแตก จากเหตุผลเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดฝนตกอย่างหนักอย่างที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามอธิบายออกมา หรือเป็นเพราะการก่อสร้างเขื่อนดินไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน หรือทั้ง 2 เหตุผลประกอบกัน

เฉพาะตัวบริษัทราชบุรีฯ (RATCH) เองในฐานะบริษัทไทย ซึ่งถือหุ้นใหญ่ (ร้อยละ 45) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และยังเป็นผู้ได้รับ “ประโยชน์” โดยตรงจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้ (410 MW ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. 354 MW) นอกจากจะต้องไป “ชี้แจง” คณะกรรมการสืบสวน-สอบสวนของ สปป.ลาว ยังต้อง “ชี้แจง” แสดงหลักฐานกับบริษัทประกันภัยที่โครงการนี้ได้ทำประกันภัยเอาไว้ และสถาบันการเงินที่ RATCH ไปกู้เงิน (70% ของร้อยละ 25 ที่ RATCH ถือหุ้นอยู่) เอาไว้ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลที่ว่าโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย เข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD-commercial operation date) ที่ทำสัญญาไว้กับ กฟผ.ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออีก 6 เดือนนับจากนี้ได้หรือไม่ เพราะการไม่มีไฟฟ้าขายก็เท่ากับบริษัทไม่มีรายได้นั่นเอง