ธุรกิจรีไซเคิลรายได้ทะลุแสนล้าน

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ธุรกิจรีไซเคิล คือธุรกิจเก็บรวบรวมเศษวัสดุและชิ้นส่วนโลหะและอโลหะที่ใช้แล้วและไม่เป็นอันตราย เช่น ขยะจากครัวเรือน กระดาษ พลาสติก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ คอมพิวเตอร์ และยานพาหนะ ฯลฯ นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อขายส่งโดยไม่มีกระบวนการเปลี่ยนรูป และที่แปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ของธุรกิจรีไซเคิลช่วง 5 เดือนแรก ปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มี 212 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 107 ราย ขยายตัวขึ้นร้อยละ 98.13

ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2561 มีธุรกิจรีไซเคิลทั่วประเทศ 3,102 ราย แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 2,249 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.50 ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 852 ราย ร้อยละ 27.47 และบริษัทมหาชน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลรวม 24,915 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัดมูลค่า 23,655 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.94

ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมูลค่า 1,245 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.00 และบริษัทมหาชนมูลค่า 15 ล้านบาท ร้อยละ 0.06 มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท 2,768 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.23 มากกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท 302 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.74 และมากกว่า 100 ล้านบาท 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.03 จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปบริษัทจำกัด และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก

Advertisment

แบ่งตามพื้นที่ทั้งหมด 3,102 ราย พบว่าตั้งอยู่ในภาคกลางมากที่สุด 1,246 ราย หรือร้อยละ 40.17 ภาคตะวันออก 745 ราย ร้อยละ 24.02 และกรุงเทพมหานคร 620 ราย ร้อยละ 19.99 โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 620 ราย ชลบุรี 406 ราย สมุทรปราการ 375 ราย ปทุมธานี 208 ราย และสมุทรสาคร 185 ราย

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทยมูลค่า 20,522 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.37 ต่างชาติลงทุน 4,393 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.63 ได้แก่ ญี่ปุ่นมูลค่า 1,230 ล้านบาท มาเลเซีย 1,184 ล้านบาท จีนมูลค่า 726 ล้านบาท

Advertisment

ผลประกอบการของธุรกิจรีไซเคิล ปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 116,463 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 8.2 มีกำไรสุทธิ 515 ล้านบาท โดยรายได้

ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนาดเล็กทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สูงถึงร้อยละ 43.47 ของรายได้รวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปวัสดุเหลือใช้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการรับย่อยขยะรีไซเคิล นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้รวมของธุรกิจช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2555- 2559 แม้ว่าธุรกิจโดยรวมจะมีรายได้รวมลดลงในปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 22.7 เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์รีไซเคิลลดลง แต่ธุรกิจที่มีจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้านบาท สร้างรายได้ค่อนข้างคงที่เฉลี่ย 2.96 หมื่นล้านบาทต่อปี

แนวโน้มธุรกิจจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การเติบโตของเมือง รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น แนวคิดในการนำขยะหรือสิ่งของ

ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่จึงตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเปิดโอกาสให้นักลงทุนหันมาสนใจหารายได้จากการประกอบธุรกิจโลกสีเขียวอย่างธุรกิจรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจครบวงจร เริ่มตั้งแต่การรับซื้อขยะหรือของเก่า การคัดแยกประเภทขยะ การย่อยหรือบดขยะ จนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีเงินทุนจำนวนมาก และกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเพียงกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง ได้แก่ ธุรกิจรับซื้อของเก่า ธุรกิจย่อยหรือบดขยะ เพื่อส่งต่อสู่โรงงานแปรรูปขยะรีไซเคิล โดยใช้เครื่องจักรน้อยชิ้นและใช้เงินลงทุนน้อย ส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เริ่มให้ความสนใจประกอบธุรกิจรีไซเคิลในรูปแบบแฟรนไชซี (franchisee) โดยเฉพาะแฟรนไชส์รับซื้อของเก่า เนื่องจากมีการนำนวัตกรรมรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ธุรกิจรีไซเคิลมีแนวโน้มขยายตัวสอดรับกับปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2560 มีปริมาณขยะประเภทแก้ว กระดาษ พลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม และยาง เกิดขึ้นทั่วประเทศ 17.42 ล้านตัน ถูกนำมารีไซเคิล 11.87 ล้านตัน ขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2559 ที่มีปริมาณขยะถูกนำมารีไซเคิล 9.93 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.54 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการรีไซเคิลขยะพลาสติกสูงถึง 3.50 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.49 ของปริมาณขยะที่ถูกนำมารีไซเคิลในปี 2560 เนื่องจากหาได้ง่ายและมีปริมาณมากกว่าขยะประเภทอื่น อีกทั้งสามารถนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกซึ่งมีราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการจูงใจแก่ภาคธุรกิจ โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6-8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำมาใช้ในธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนประกอบธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น