ลงทุน “เงินดิจิทัล” อีกกลโกงโจร 4.0

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

ยังคงเย้ายวนใจตลอดสำหรับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น “บิตคอยน์” หรือชื่อแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ตอนนี้มีผุดขึ้นเต็มไปหมด หลังจาก “บิตคอยน์” เคยสร้างประวัติราคาพุ่งทะลุเดือดขึ้นไปสูงสุดเมื่อ ธ.ค. 2560 ที่ราคาทะลุ 17,549 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ ทั้งที่เมื่อ ม.ค. 2560 ราคาอยู่แค่ 985 เหรียญสหรัฐต่อบิตคอยน์ ทำให้เวลานั้น “บิตคอยน์” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะเครื่องมือสร้างความร่ำรวยด้วยเวลาอันรวดเร็วอย่างที่หลายคนใฝ่ฝัน

จนเกิดเป็นทั้งกระแสฮิตทั้งลงมือ “ขุด” ลงทุนสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์กันเป็นล่ำเป็นสัน ส่งผลให้ “การ์ดจอคอมพิวเตอร์” ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญราคาพุ่งสูง และขาดตลาดในบางช่วง ทั้งนักลงทุนยุคใหม่ที่เข้าซื้อขาย “บิตคอยน์” หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ผ่านตลาดกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เป็นทั้งเว็บไซต์ในและต่างประเทศ ที่มีรูปแบบเสมือนหนึ่งเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต่างกันแค่ “ไม่มีกฎหมายใด ๆ” รับรอง รวมถึงเทรดกันข้ามประเทศได้อีกต่างหาก

ทำให้ตามโซเชียลเน็ตเวิร์กและเว็บบอร์ดต่างๆ มี “นักลงทุนเงินดิจิทัล” ออกมาโพสต์ถ่ายทอดความร่ำรวยที่ได้จากการลงทุน จนหลายๆ คนที่ไม่เคยรู้จักนึกสนใจอยากรวยแบบนี้บ้าง

แต่กระแสเห่อลงทุนบิตคอยน์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ทำให้นักลงทุนหลายคนที่เพิ่งกระโดดเข้าไปลงทุนในระลอกหลัง เจ็บตัวหนักจากการ “ติดดอย” เพราะตั้งแต่ 11 ธ.ค. 2560 ที่ราคาพุ่งทะลุเดือดไปแล้ว ก็ไม่เคยกลับขึ้นไปสูงเท่านั้นอีกเลย มีแต่ราคาไหลลงอย่างต่อเนื่องจนลงไปแตะ 6,177 เหรียญสหรัฐต่อบิตคอยน์ แม้ปัจจุบันจะเริ่มอยู่ในทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง

แต่เรื่องล้มเหลวคนไม่ค่อยจดจำและไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึง ต่างกับปรากฏการณ์ “ราคาพุ่งทะลุเดือด” ของบิตคอยน์ได้กลายเป็นโมเดลขายฝันที่ถูกผู้ที่ตั้งตัวเป็น “ผู้หวังดี” ชักชวนคนอื่นมาลงทุน “แบ่งปันกันรวย” หยิบยกขึ้นมาอ้างว่ามันจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับเงินสกุลดิจิทัลใหม่ ๆ ที่คนกลุ่มนี้จะปั้นขึ้นมาใหม่หรือที่เพิ่งตั้งไข่ในวงการเงินดิจิทัลที่ยังมีคนรู้จักไม่มากนัก “ขอเชิญท่านทั้งหลายมาลงทุนด้วยกันเถิด ก็เหมือนฝากเงินให้เราบริหารให้ แถมการันตีผลตอบแทนให้ xx% ทุกเดือน” 

ทุกวันนี้จึงได้เห็นปรากฏการณ์ชวนลงทุนในเงินดิจิทัลออกมามากมายหลายช่องทาง ทั้งการชวนเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง การชวนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ แม้แต่รูปแบบของการเปิด “สัมมนา” ตามโรงแรม อาคารสำนักงานหรู ๆ โดยมีวิทยากรที่ทรงภูมิดูน่าเชื่อถือคอยมาโน้มน้าว

แต่สุดท้ายถ้าได้ศึกษาหาความรู้ไว้เบื้องต้น และมี “สติ” ในการไตร่ตรองดู ก็จะพบว่า “ผู้หวังดี” ทั้งหลายแท้จริงแล้วก็คือ “โจร” ที่มาเปิดประตูออกล่าเหยื่อ ซึ่งทุกคนทุกฐานะก็ล้วนมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อได้ ไม่ใช่จำกัดว่าต้องเป็นระดับนักลงทุนฟินแลนด์ที่โดนตุ๋นเงินกว่า 700 ล้านบาทอย่างที่กำลังดังในเวลานี้เท่านั้น

กลโกงของโจรเหล่านี้ มีตั้งแต่การใช้หลักการเดียวกับ “แชร์ลูกโซ่” มาหลอกลวง แต่อ้างว่าเป็นการลงทุนเงินดิจิทัลให้ดูเท่ ๆ ทั้งที่จริง ๆ ก็คือเปิดให้มาร่วมลงทุนเพื่อผลตอบแทนสูง ๆ ยิ่งถ้าชักชวนคนมาเข้าร่วมได้มากก็จะมีผลตอบแทนเพิ่ม เดือนแรก ๆ ก็ได้เงินปันผลสูงตามสัญญา ยั่วยวนใจให้หาเงินมาลงทุนเพิ่ม พอผ่านไปสักพักก็หายเข้ากลีบเมฆ ซึ่งกรณีล่าสุดที่ถูกตำรวจจับได้ความเสียหายก็ระดับร้อยล้านบาท ผู้เสียหายกว่า 50 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจและเงินดิจิทัลมาก่อน

อีกวิธีคือ ใช้คนที่มีชื่อเสียงมาชักจูงโดยมุ่งไปหาคนที่มีกระเป๋าหนัก ซึ่งอาจจะมีความรู้ด้านธุรกิจบ้าง แต่ “ไม่เท่าทันโจร” ที่อาศัยความซับซ้อนของเทคโนโลยีในส่วนนี้ และอาศัยเครดิตดั้งเดิมมาหลอกล่อ โชว์แผนธุรกิจที่น่าเชื่อถือแต่จริง ๆ คือตั้งใจโกงกันโต้ง ๆ

“ภูมิ ภูมิรัตน” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เคยย้ำไว้ว่า ราคาของเงินดิจิทัลจะมีความผันผวนสูงและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ราคาอาจตกลงมากกว่า 20% ภายในวันเดียว ทั้งยังอ่อนไหวต่อกระแสข่าวอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แม้จะเป็นการลงทุนจริง ๆ ไม่ใช่การหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ

ฉะนั้น คนที่คิดจะลงทุนต้องใช้เงินลงทุนในจำนวนที่พร้อมจะสูญเสียมันไปทั้งหมดได้โดยไม่กระทบกับคุณภาพชีวิต เงินที่มีแผนจะต้องใช้ในอีก 6 เดือนอีก 1 ปี ห้ามนำมาใช้ลงทุนแบบนี้เด็ดขาด

“ที่สำคัญคือ เมื่อใดก็ตามที่มีการชักชวนให้เข้าไปลงทุนในเงินดิจิทัล โดยอ้างว่าการันตีลงทุนเท่านี้จะได้ผลตอบแทนเท่านี้ หรือมีผลตอบแทนพิเศษเพิ่มจากการชวนคนอื่นมาลงทุนเพิ่มได้ ให้ฟันธงไปเลยว่า เป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะการลงทุนเงินดิจิทัลไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ ฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจหยิบเงินออกมาลงทุน ต้องไตร่ตรองมาก ๆ เลือกมาก ๆ ว่าจะไปลงทุนกับใคร จะเทรดที่ไหน เพื่อไม่ให้โดนโกง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูได้ยาก แต่ง่ายที่สุดคือ ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าอย่าเชื่อใจเอาเงินไปลงทุนกับเขา”

สุดท้ายแล้ว “สติ” ที่จะค่อย ๆ ไตร่ตรอง และการใฝ่รู้ค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองก่อนคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจทุกครั้ง ยิ่งในโลกทุกวันนี้ ความรู้หาง่ายแค่คลิก ทำเองได้ไม่ต้องพึ่งใครอย่าให้แค่การตัดสินใจ “คลิก” โอนเงิน “คลิก” เทรดเงินดิจิทัล กลายเป็นประตูเปิดสู่หายนะทางการเงิน