ปัจจัยเสี่ยงนอกบ้านรุมเร้า

แฟ้มภาพ

บทบรรณาธิการ

วิกฤตตุรกี” กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลก ที่เข้ามาผสมโรงกับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐและจีน ที่เขย่าค่าเงินทั่วโลกผันผวนหนัก แม้ว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับตุรกีเอฟเฟ็กต์ ตามที่สำนักเศรษฐกิจทั้งของภาครัฐและเอกชนคาดการณ์

เพราะประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 10% ของจีดีพีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงเป็นลำดับ 11-12 ของโลก ทำให้ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของวิกฤตเท่านั้น สถานการณ์ตุรกีเอฟเฟ็กต์ของจริงยังฝุ่นตลบ ทั้งมีความกังวลว่าปัญหาจะลุกลามไปยังธนาคารยุโรปซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของตุรกี รวมถึงผลกระทบที่ส่งต่อไปยังตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาเงินทุนและเงินกู้ต่างประเทศสูง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ค่าเงินร่วงหนัก กระทั่งธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องเรียกประชุมนัดพิเศษและประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้อีก 0.25% เป็น 5.5% เพื่อสกัดเงินทุนไหลออก

สะท้อนถึงความไม่ปกติสุขของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ขณะที่สงครามการค้าของสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก “สหรัฐและจีน” ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ยังคงอยู่ต่อไป แม้จะมีข่าวการหันหน้ามาเจรจากัน แต่ก็ดูไม่มีความหวังเท่าไหร่ ขณะที่ผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยก็ยังคงอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาภาคส่งออกของไทยจะทำผลงานได้ดี แต่ผลกระทบจากสงครามการค้าที่บานปลายก็จะเริ่มออกดอกออกผลชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน หลาย ๆ ปัจจัยอาจกดดันภาวะเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

ปัจจัยภายนอกถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่มีประเด็นใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อย ๆและนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัจจัยเสี่ยงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในขณะที่ทั่วโลกกำลังปิดก๊อกคิว/อี ทำให้เกิดภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่

แม้ว่าเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าอยู่นอกบ้านก็มากมายเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สั่นสะเทือน เพียงแต่บางปัญหาอาจยังไม่แสดงอาการ สิ่งสำคัญต้องระมัดระวังการดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท ขณะเดียวกันก็เร่งเดินเครื่องการลงทุนให้ได้ตามที่ประกาศนโยบายไว้ เพราะแม้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 4-5% แต่การลงทุนภาครัฐก็ยังเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน