การใช้ “กฎหมาย” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

 

ในสมัยแรกเริ่ม เศรษฐกิจของจักรวรรดิโรมันมีพื้นฐานมาจากเรื่องเล็ก ๆ คือ การผลิตและการค้าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูคนที่อยู่อาศัยบนชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เอกชนสามารถนำไม้มีค่ามาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 โดยเชื่อว่า ถ้าเกษตรกรสามารถใช้ “ไม้มีค่า” คือ ไม้ยืนต้นประเภท ไม้สัก ไม้พะยูง ฯลฯ มาใช้เป็นหลักประกันการกู้หนี้ยืมสิน แล้วจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี

แต่กว่าไม้มีค่าเหล่านี้จะเติบโตมาจนสามารถก่อรายได้ให้แก่เจ้าของก็ใช้เวลานานหลายปี คงจะลำบากที่จะหาเจ้าหนี้ที่ยินดีรอโดยไม่รับดอกเบี้ยจากเกษตรกรในระหว่างที่ต้นไม้มีค่าเหล่านี้ (ไม้สัก ไม้พะยูง ฯลฯ) กำลังโต จนถึงวันที่ต้นไม้มีค่าเหล่านี้โตเต็มที่สามารถตัดมาทำประโยชน์ได้แล้วจึงจะได้รับทั้งดอกเบี้ย เงินต้นจากเกษตรกรเพราะในระหว่างที่ไม้มีค่าเหล่านี้กำลังโตวันโตคืน เจ้าหนี้ก็ต้องหารายได้เพื่อนำไปจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนผู้มาฝากเงินตามกำหนดเวลาสม่ำเสมอ ดังนั้น เกษตรกรผู้จะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงกฎหมายคราวนี้ ต้องเป็นเกษตรกรมีทุนรอนแหล่งรายได้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ในระหว่างรอต้นไม้มีค่าเติบโตได้

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนจากโครงการนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้มีเงินทุนลงทุนทำสวนป่าไม้มีค่าขึ้น
ในที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า และให้ผู้สนับสนุนทางการเงินแก่เกษตรกรผู้นำไม้มีค่านี้มาเป็นหลักประกันช่วยภาครัฐสอดส่องไม่ให้นายทุนเหล่านี้บุกรุกป่า ซึ่งในระยะยาวน่าจะทำให้ประเทศเรามีป่าไม้มากขึ้น แต่จุดอ่อนของโครงการใช้ไม้มีค่าเป็นหลักประกันนี้ คือ โครงการนี้ไม่สามารถช่วยเกษตรกรที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินทั่วไป ที่รัฐบาลท่านอยากจะช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของท่าน

ถ้าในการปรับปรุงกฎหมายคราวนี้ รัฐบาลท่านจะปรับปรุงเพิ่มอีกสักนิดก็จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้มีเงินทุนน้อยมีช่องทางเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ รัฐบาลท่านก็จะสามารถยิงนกได้สองตัวโดยใช้การปรับปรุงกฎหมายคราวนี้ในคราวเดียว

นอกจากการให้ใช้ไม้มีค่าเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ควรปรับปรุงกฎหมายให้สามารถใช้พืชผลและผลผลิตในอนาคตที่ลูกหนี้ปลูกหรือเพาะเลี้ยงอยู่มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจด้วย เป็นต้นว่าให้ชาวนาสามารถใช้ข้าวสารที่จะเก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวที่ตนเองปลูกอยู่เป็นหลักประกันการกู้หนี้ยืมสินได้

ให้ชาวไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ฯลฯ สามารถเอาอ้อย ข้าวโพด ฯลฯ ที่ตนกำลังเพาะปลูกมาใช้เป็นหลักประกันได้ ให้ชาวสวนมะม่วง ทุเรียน กล้วย มะพร้าว ลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ สามารถเอาผลมะม่วง ผลทุเรียน ผลกล้วย ผลมะพร้าว ผลลำไย ผลลิ้นจี่ ฯลฯ (ไม่ใช่ต้นนะครับ ใช้เฉพาะผลของต้น) เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

คือขยายจากไม้มีค่าที่เป็นไม้ยืนต้นที่ต้องปลูกนานหลายสิบปีเพื่อโค่นต้นเอามาใช้ประโยชน์ ให้มารวมถึงผลของพืช ทั้งพืชยืนต้น และพืชล้มลุกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ประโยชน์ในระยะเวลาที่สั้นกว่า แต่บ่อย ๆ ด้วย เกษตรกรผู้ปลูกพืชเหล่านี้มักจะเป็นผู้มีทุนรอนน้อย แต่ขยันขันแข็ง นอกจากนี้ ควรขยายให้บ่อกุ้ง บ่อปลา ฟาร์มไก่ ฟาร์มเป็ด ฟาร์มหมู ฯลฯ สามารถใช้กุ้ง ปลา ไก่ เป็ด หมู ฯลฯ ที่เพาะเลี้ยงเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

การใช้พืชผลและผลผลิตเป็นหลักประกันทางธุรกิจเช่นนี้ วงเงินของแต่ละไร่ แต่ละสวน แต่ละบ่อกุ้ง แต่ละฟาร์มไม่สูงมาก หากขบวนการจดทะเบียนหลักประกันไม่ยุ่งยาก ก็เป็นการเปิดทางเลือกให้สถาบันการเงิน หรือกิจการต่าง ๆ ที่สนใจ ปล่อยกู้รายย่อยได้ง่ายขึ้น

พี่น้องชาวเกษตรกรก็ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เพราะมีทางเลือกที่จะเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกต้องได้โดยตรง สอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล

การใช้ผลิตผลทางการเกษตรและกสิกรรมเป็นหลักประกันทางธุรกิจไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ กฎหมายในสมัยอาณาจักรโรมันสองพันกว่าปีที่แล้ว ก็มีบทบัญญัติให้ใช้ผลผลิต เช่น ผลมะกอก ที่จะออกผลในแต่ละฤดูกาลในสวนต้นมะกอกเป็นหลักประกันต่าง ๆ ได้

จึงอยากให้รัฐบาลท่านกรุณาขยายการปรับปรุงกฎหมายนี้ (ซึ่งทำได้โดยแก้เพิ่มไม่มากครับ) เพื่อเปิดช่องทางให้เกษตรกรที่มีทุนรอนน้อย มีช่องทางเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นครับ


คลิกอ่านเพิ่มเติม…เปิดชื่อไม้ 58 ชนิด ใช้เป็นหลักประกันกู้เงินจากแบงก์ได้