มากกว่าการประมูลคลื่น

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

การจัดประมูลคลื่นความถี่ครั้งล่าสุด (19 ส.ค.) ที่ผ่านมา “กสทช.” คงผิดหวังไม่น้อย แม้พยายามเต็มที่แล้วแต่หาเงินเข้ารัฐได้แค่ 25,022 ล้านบาท จาก “เอดับบลิวเอ็น” ในเครือเอไอเอส และ “ดีแทค ไตรเน็ต” ในเครือดีแทค หลังทั้งคู่เข้าประมูลเฉพาะคลื่น 1800 MHz เจ้าละ 1 ใบอนุญาตเท่านั้น

ที่บอกว่า “เลือก” ได้เลย เนื่องจากการประมูลคลื่นรอบนี้ แบ่งคลื่น 1800 MHz เป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz เมื่อเข้าประมูลแค่ 2 ราย จึงไม่ต้องแข่งแย่งชิงคลื่น

ใครอยากได้แถบคลื่นช่วงไหนก็เลือกเข้าไปเคาะราคาได้เลย ซึ่งตามเงื่อนไขระบุให้เคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ละเจ้าก็ทำตามนั้นทุกประการ เคาะเพิ่มคนละครั้ง ก็ได้ครอบครองแถบคลื่นช่วงนั้นไปจากราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท จึงขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาจบที่ 12,511 ล้านบาท

ฟาก “กสทช.” จึงพลาดเป้าไปไม่น้อย ถัดจากนี้จึงต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออีก 7 ใบอนุญาต และกับคลื่น 900 MHz ที่ไม่มีใครสนใจด้วย

ในเบื้องต้น “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่าจะจูงใจให้เข้าประมูลด้วยการขยายระยะเวลาชำระเงิน เช่น คลื่น 1800 MHz เดิมแบ่งจ่าย 3 ปี เป็น 5-6 ปี หรือคลื่น 900 MHz เดิมจ่าย 4 ปี เป็น 8-10 ปี รวมถึงป้องกันคลื่นรบกวนที่อาจใช้เงินจากกองทุน USO เป็นต้น

เรียกว่าพร้อมปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น และจูงใจเต็มที่ เว้นไว้อย่างเดียวที่ไม่ยอมปรับ คือ “ราคา” กับคลื่น 900 MHz ยังนำเสนอบทวิเคราะห์ทบทวนการจัดสรรคลื่นที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปก่อนหน้านี้ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย เพราะหากดึงคลื่นกลับมาประมูลรวมกับที่มีอยู่จะเป็น 10 MHz ซึ่งมูลค่าจะเพิ่มขึ้นมากด้วย

จะสรุปแบบไหน รออีกไม่นานคงได้เห็นเลขาธิการ กสทช.ย้ำด้วยว่า ยังต้องคิดเผื่อไปถึงการทำให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในปี 2563 ตามนโยบายรัฐบาลด้วย เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่ทั่วโลกเริ่มเปิด 5G หากไทยช้าไปก็จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

อยากเห็น 5G โดยเร็วก็ต้องเร่งจัดสรรคลื่นใหม่

ฟากผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งจีนและยุโรปให้ข้อมูลสนับสนุนว่า แถบคลื่นที่เหมาะสมกับ 5G มีตั้งแต่คลื่น 700 MHz, 3.5-3.6 GHz และ 26-28 GHz ทั้งเสริมว่าจะทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ไม่เฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมแต่รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมาก

แต่ก่อนถึง 5G กลับมาที่การประมูลคลื่น 1800 MHz อีกสักนิด เอกชน โดยเฉพาะ “เอไอเอส” แม้ได้คลื่นเพิ่มแค่ 5 MHz แต่เมื่อรวม 1800 MHz ที่มีอยู่ก่อนจะเป็น 20 MHz (รวมขาขึ้นขาลงเป็น 40 MHz) ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้ 4G บนคลื่น 1800 MHz เพิ่มขึ้นมาก

โดย “ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป “เอไอเอส” อธิบายว่า ทำให้เกิด “super block” หรือคลื่นความถี่ที่มีแบนด์วิดท์ติดกันกว้างที่สุด

การที่ “เอไอเอส” มีคลื่น 1800 MHz เป็น 40 MHz (20 MHz x2) ไม่ได้ทำให้ความเร็วในการใช้ 4G เพิ่ม 15-30% เท่านั้น แต่ยังรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นได้ถึง 33%

“ความเร็วในการให้บริการคลื่น 1800 MHz เดิมสูงสุด 300 Mpbs เมื่อได้เพิ่ม 5 MHz จะเพิ่มสูงสุด 390 MHz ทำให้สมาร์ทโฟนทุกรุ่นได้ประโยชน์ทั้งยังให้บริการ 5G ได้”

เมื่อนับรวมกับคลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz (15 MHz x2) อีก 30 MHz (15 MHz x2) ที่เป็นพันธมิตรกับทีโอที และคลื่น 900 MHz อีก 20 MHz (10 MHz x2) จะทำให้ “เอไอเอส” มีคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 120 MHz (60 MHz x2) กว้างที่สุดในประเทศไทย

สำหรับ “เอไอเอส” 5 MHz ที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ใช่แค่ 5 MHz ธรรมดา แต่เป็นการช่วงชิงความเป็นผู้นำเพิ่มเติมไปจากที่เป็นผู้นำเรื่องจำนวนฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านราย มากที่สุดในตลาดอยู่แล้ว

จึงไม่น่าแปลกที่ในทันทีที่การประมูลคลื่นจบลง


“เอไอเอส” ชิงธงประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า ขึ้นเป็นค่ายมือถือที่มีคลื่นมากที่สุดในอุตสาหกรรม