เคล็ดลับของแอปมือถือ ที่ครองใจผู้ใช้บริการ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย รณดล นุ่มนนท์

วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเข้าไปค้นหาแอปพลิเคชั่นเพื่อนำมาใช้ในโทรศัพท์มือถือ เพราะที่ผ่านมาใช้มือถือเพียงเพื่อโทรศัพท์ อ่านเมล์ และวนเวียนอยู่ในสังคมออนไลน์ เรียกว่าไม่คุ้มค่าโทรศัพท์ที่ซื้อมาเรือนหมื่น และยิ่งเห็นรุ่นใหม่ออกมาแบบปีต่อปี ทำให้ต้องตอบคำถามก่อนว่า ปัจจุบันเราใช้รุ่นที่มีอยู่คุ้มค่าหรือยัง

ผมไม่แปลกใจที่พบว่า แอปพลิเคชั่น (แอป) ที่จะสามารถ download มาใช้ในโทรศัพท์มือถือมีมากมาย ส่วนใหญ่เน้นในด้านบันเทิง ตั้งแต่เล่นเกม ตกแต่งรูปถ่าย ไปจนถึงแอปดูแลสุขภาพช่วยแปลคำพูดจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง เรียกว่าแต่ละแอปมีลูกล่อลูกชน มีจุดเด่นที่พยายามชักจูงให้ผู้ใช้ download แต่ในช่วง 2 ชั่วโมงที่ผมท่องแอปเหล่านั้น มีแอปเพียง 2 ตัวที่ผมสนใจและได้ download นำมาลองใช้

แอปแรกเป็นแอปฟังเพลง ปกติแล้วผมจะใช้ YouTube ในการฟังเพลงโดยเฉพาะในช่วงที่เขียน weekly mail เพื่อสร้างบรรยากาศ แต่ข้อจำกัดของ YouTube คือต้องเป็นผู้เลือกเพลงหรืออัลบั้มศิลปินเอง และฟัง ๆ ไปก็จะมีโฆษณาคั่นทำให้เสียอารมณ์

แต่แอปที่ชื่อว่า Spotify เป็นแอปที่รู้จักคนฟัง โดยหากเราระบุศิลปินที่โปรดปรานเพียงแค่ 2-3 คน Spotify จะเริ่มเรียนรู้ว่าเราชอบลักษณะเพลงแบบไหนรวบรวมเป็น playlist ให้ในรูปแบบ streaming music (สตรีมมิ่งมิวสิก) ซึ่งหากเราฟังแล้วไม่ชอบเพลงใดและลบทิ้งออก จะยิ่งทำให้ Spotfiy เรียนรู้สไตล์ของคนฟังมากขึ้น เรียกว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :

AI) ขนานแท้ ในขณะที่ Spotify มีเพลงให้เลือกมากกว่าแอปอื่น ๆ และหากเสียค่าบริการรายเดือนจะสามารถยกระดับการฟังเพลงได้ดีขึ้น เช่น การปรับคุณภาพเสียง เป็นต้น

แอปที่ 2 เป็นของคนไทยที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการค้นหาร้านอาหารอร่อย ๆ ในเมืองไทย ชื่อว่า Wongnai (วงใน) แต่เป็นแอปที่โดดเด่นกว่าแอปค้นหาร้านอาหารอื่น ๆ เพราะผู้ใช้สามารถค้นหาร้านอาหารที่อยู่ในฐานข้อมูลกว่า 3 แสนร้าน ได้ในหลายแง่มุม ตั้งแต่ค้นหาร้านที่อยู่ใกล้บ้าน ประเภทอาหารช่วงราคาที่สนใจ ไปจนถึงร้านข้างถนนที่อร่อยในตรอกซอกซอย

แถมมีการติดดาวให้กับร้านที่เข้ามาตรฐาน (นอกเหนือจากคำวิจารณ์ของผู้ที่เคยไปลิ้มรสร้านอาหารเหล่านั้น) นอกจากนั้น Wongnai ยังช่วยผู้ใช้งานที่จะเก็บบันทึกร้านอาหารที่โปรดปรานไว้ในบันทึกส่วนตัวไปจนถึงให้บริการส่งถึงบ้าน Spotify และ Wongnai มีผู้ใช้งานกว่า 60 ล้านคน และ 3 ล้านคนตามลำดับ ถือเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ที่สามารถครองใจผู้ใช้งานได้

แต่ที่น่าสนใจ คือ จุดกำเนิดวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานของทั้งสองบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกันมาก

Spotify ก่อตั้งขึ้นโดยสองคู่หูชาวสวีเดน แดเนียล เอ็ก (Danial Ek) และมาร์ติน โลเรนต์ซอน (Marting Lorentzon) ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านเทคโนโลยีเกมออนไลน์และตลาดดิจิทัลมาก่อน แต่ด้วยมีความตั้งใจที่จะสร้างแอปพลิเคชั่นให้บริการสตรีมมิ่งมิวสิกเพื่อให้การฟังเพลงทำได้ถูกกฎหมายและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเริ่มต้นสร้างแอปจากอพาร์ตเมนต์ที่ตนเองอาศัย และตั้งชื่อแอปว่า Spotify ที่นำคำว่า spot และ identify มาผสมกัน

จนสามารถนำแอปออกมาให้บริการได้ในปี 2008 โดยเอ็กให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จมี 3 ประการ ได้แก่ 1.การเลือกเจาะตลาดเล็ก ๆ ก่อน แทนที่จะเจาะตลาดขนาดใหญ่ อย่างเช่น สหรัฐ ซึ่งผลตอบรับอาจจะไม่ดีในช่วงแรก แต่สามารถนำบทเรียนที่ได้รับไปปรับปรุงก่อนขยายตลาดต่อไป 2.การให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นหรือไม่สนใจ เช่น ความคิดในการสร้างโลกดนตรีในลักษณะสตรีมมิ่งมิวสิก เป็นต้น และ 3.การดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ค่ายเพลงต่าง ๆ ยอมรับและยินยอมให้ Spotify นำเพลงมาให้บริการอย่างถูกลิขสิทธิ์1/จุดกำเนิดของ Wongnai มีความคล้ายคลึงกับ Spotify เพราะเป็นการรวมตัวของเพื่อน 4 คนที่จบจากคณะวิศวะ จุฬา ที่เมื่อเรียนจบต่างแยกกันไปทำงาน แต่มารวมกันเพราะ คุณยอด

ชินสุภัคกุล (ปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัท) ไปเรียนต่อ MBA ที่สหรัฐ และพบว่ามีแอปบริการค้นหาร้านอาหาร เช่น Yelp ที่คนอเมริกันใช้อยู่เป็นประจำ และเห็นว่าไม่มีบริการแบบนี้ในประเทศไทย จึงชักชวนเพื่อนทั้ง 3 คนมาร่วมกันสร้าง Wongnai และเริ่มเปิดให้บริการในปี 2553

ซึ่งในช่วงแรก การใช้ Wongnai ยังไม่แพร่หลาย แต่เมื่อ smartphone เริ่มมีคนใช้มากขึ้น ประกอบกับมีบริษัทญี่ปุ่นที่มาเป็น partner ลงทุนด้วย ทำให้ Wongnai ได้เงินทุนในการพัฒนาทำการตลาด และรวบรวมข้อมูลได้มากขึ้นจนทำให้คนเข้ามาใช้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันนอกจากแอปที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารแล้ว Wongnai ยังขยายไปยังธุรกิจเสริมสวยและการท่องเที่ยวอีกด้วย

2/จากประวัติของบริษัททั้งสองจะเห็นได้ว่า ผู้ก่อตั้งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของบริษัทด้วยการมี passion และแรงบันดาลใจที่จะทำให้สิ่งที่ตนเองฝันให้กลายเป็นความจริง พร้อม ๆ กับปลูกฝังความคิดดังกล่าวไว้ในค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่ให้เกิด agility ที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา แดเนียล เอ็ก ได้กล่าวไว้ว่า “We aim to make mistakes faster than anyone else.”

3/ (เราตั้งเป้าที่จะทำผิดพลาดก่อนคู่แข่ง) ในขณะที่คุณยอด ชินสุภัคกุล มีคติในการทำงานว่า “I’m notsmarter than most of you.I’m just faster.”

4/ (ผมไม่ได้เป็นคนฉลาดเพียงแต่เป็นคนเร็วที่จะลงมือทำ)ในสัปดาห์หน้า ผมจะเขียนขยายความถึงวัฒนธรรมของบริษัททั้งสอง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการนำกระบวน

การทำงานในลักษณะที่เรียกว่า “squad” มาใช้ ถือว่าเป็นเคล็ดลับในการนำมาสู่ความสำเร็จของแอปทั้งสองที่ทำให้ผมต้อง download มาลองใช้อยู่ ณ เวลานี้