เปิดโลกใหม่…งาน RIIT2018 หุ่นยนต์-อินฟอร์เมติกส์-การควบคุมอัจฉริยะ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนการพึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก และภาคการส่งออกเหมือนที่ผ่านมา และคาดหวังว่าโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve เป็นตัวนำ จะช่วยให้ประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ยกชั้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้สำเร็จ

ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกก็กำลังตื่นตัวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) ยุคแห่งการสื่อสารทางดิจิทัล และหนึ่งในไฮไลต์ของนวัตกรรมใหม่ที่คนทั่วโลกเห็นความสำคัญและให้ความสนใจ คือ การพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าในงานอุตสาหกรรมโดยเครื่องจักรสามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยังเครื่องจักรอื่น และควบคุมการทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ในกระบวนการผลิตได้เองอาทิ ระบบอัจฉริยะ อย่าง smart building, smart city ระบบออโตเมชั่น อย่าง realtime embedad control, automation indudtrail ระบบบริหารและการบริการทางธุรกิจต่าง ๆ อาทิ online business, logistic application เป็นต้น

เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ทั้งยังสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดลใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” สมาคมริตต้า ประเทศไทย ภายใต้สมาคมริตต้า (Robotic, Informatics and Intelligence Control Technology Association : RIITA) ซึ่งเป็นสมาคมนานาชาติที่ดำเนินงานด้านการวิจัย ออกแบบ และสร้างระบบการทำงาน ซึ่งประยุกต์ทางด้านหุ่นยนต์ อินฟอร์เมติกส์ และการควบคุมชั้นสูงสำหรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ฯลฯ จะจัดงานประชุมสัมมนาทางด้านหุ่นยนต์ อินฟอร์เมติกส์ และการควบคุมอัจฉริยะ (RIIT2018) ขึ้น ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานเจ้าภาพร่วมนอกจากสมาคมริตต้า มีวิทยาลัยวิจัยการศึกษานวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และได้รับการรับรองและการสนับสนุนจากสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรไอทริปเปิ้ลอี (IEEE Computer Thailand Section) ตลอดจนหน่วยงาน และผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอินฟอร์เมติกส์ และการควบคุมอัจฉริยะ

ภายในงานตลอด 2 วัน จะมีการประชุมทางวิชาการนานาชาติ และงานสัมมนาเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งปกติงานนี้จะจัดให้มีขึ้นทุก 1-2 ปี หลังจากมีการจัดประชุมสัมมนาครั้งแรกเมื่อปี 2549

วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีให้คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาวไทย ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย และบทความทางวิชาการสู่เวทีโลก สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานที่ส่งบทความไม่น้อยกว่า 30-50 บทความ

โดยผู้สนใจจะได้ร่วมรับฟังบทความในแต่ละเรื่อง และการอภิปรายทางวิชาการจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชน เจ้าของอุตสาหกรรมและธุรกิจสมัยใหม่ และประชาชนทั่วไปที่ปรารถนาในผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ และประสงค์จะซื้อลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คน

รูปแบบของกิจกรรม ปีนี้จะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการนานาชาติของผู้นำเสนอบทความ และมีการแสดงนิทรรศการจากหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ

ในการนี้คณะกรรมการจัดงาน นำโดย ดร.มงคล กลิ่นกระจาย ประธานคณะกรรมการจัดงาน RIIT2018 ฝ่ายไทย ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อินฟอร์เมติกส์ และการควบคุมอัจฉริยะ รวมทั้งงานในแขนงที่เกี่ยวข้อง มาให้ความรู้ในฐานะคีย์สปีกเกอร์

จะได้เห็นวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัย นับตั้งแต่ยุคหัตถกรรมและเกษตรกรรม ก่อนจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 1.0 เป็นยุคของกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรกลไอน้ำ ซึ่งนำมาใช้ทุ่นแรงคนและสัตว์ ยุค 2.0 เป็นยุคของการคิดค้นพลังงานทดแทนไฟฟ้า เพื่อใช้แทนเครื่องจักรกลไอน้ำ จนกลายเป็นที่มาของการผลิตแบบ mass production

จนถึงยุค 3.0 เป็นยุคทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์สมัยแรกเริ่ม ที่มีผลให้กระบวนการผลิตทุกอย่างเริ่มต้นให้มีการควบคุมโดยอัตโนมัติมากขึ้น ก่อนก้าวสู่ยุค 4.0 ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของการบูรณาการระหว่างระบบอัตโนมัติ (auto-mation) ในสายทางการผลิต กับนำหลักการสมองกลฝังตัวแบบเดิมมาเชื่อมต่อการทำงาน และสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ประมวลผลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย และข้ามเครือข่าย ให้สามารถควบคุมและสั่งงานได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (internet of things) กลายเป็นยุคอุตสาหกรรมชาญฉลาด และยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (intelligence and smart industries)

ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมเครื่องจักร ให้เครื่องจักรสื่อสารบนข้อมูลที่มีการออกแบบกฎเกณฑ์ในการควบคุม และตรวจตรา (control and monitoring) ของระบบการทำงานกันเองอย่างอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนทำงาน (unman control application) ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็กำลังสนับสนุนและผลักดัน ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล “ดิจิทัลไทยแลนด์” นำพาประเทศไทยสู่ความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคตอันใกล้ หากใครสนใจและไม่อยากตกยุค แวะไปเยี่ยมชมเติมอาหารสมองให้เต็มอิ่มได้ตลอด 2 วัน