สนามบินภูเก็ต “ดีมานด์” ล้นทะลัก!

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

สัปดาห์ก่อนบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ได้จัดทริปพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมสนามบินนานาชาติภูเก็ตโฉมใหม่ หลังจากที่เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า “สนามบินภูเก็ต” น่าจะเป็นสนามบินที่มีบรรยากาศดีและสวยที่สุดของไทย เพราะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งเดียวที่มีรันเวย์อยู่ติดกับทะเลอันดามัน ทะเลที่สวยที่สุดของไทย โดยผู้โดยสารที่มานั่งรอขึ้นเครื่อง โดยเฉพาะโลเกชั่นของอาคารผู้โดยสารอินเตอร์ ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2559 รับรองว่าทุกคนจะยังได้สัมผัสกับกลิ่นอายของทะเลอันดามันยันนาทีสุดท้ายก่อนก้าวขาขึ้นเครื่องแน่นอน

เพราะ ทอท.ได้กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์สำหรับสนามบินนานาชาติภูเก็ตให้เป็น “ประตูสู่อันดามัน” หรือ gateway to the Andaman โดยมุ่งส่งเสริมให้สนามบินภูเก็ตเป็นประตูหลักสู่แหล่งท่องเที่ยวชายหาดที่สวยงาม ให้บริการด้วยรอยยิ้มและหัวใจที่อบอุ่นของคนไทย และเป็นจุดหมายปลายทางที่พรีเมี่ยมเต็มไปด้วยร้านค้าปลีกสุดหรู ร้านอาหารระดับโลก และบริการชั้นเยี่ยมต่าง ๆ

โดยปัจจุบันสนามบินแห่งนี้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ที่จำนวน 12.5 ล้านคนต่อปี แต่ในสภาพความเป็นจริงพบว่า ขณะนี้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินภูเก็ตมีถึง 17-18 ล้านคนต่อปีแล้ว เรียกว่าผู้โดยสารล้นเกินขีดความสามารถในการรองรับ หรือ over passenger ตั้งแต่โครงการพัฒนารอบล่าสุดนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

“เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์” รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) ทอท. เล่าให้ฟังถึงรูปแบบของอาคารผู้โดยสารทั้ง 2 อาคารว่า นอกจากสนามบินแห่งนี้จะมีบรรยากาศรายล้อมสวยงามแล้ว ภายในยังมีการตกแต่งเป็นรูปแบบชิโนโปรตุกีสที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 5,900 ตร.ม. โดยแบ่งการบริหารจัดการพื้นที่เป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การให้สัมปทานรายเดียว หรือ master concessionaire ส่วนนี้มีบริษัทเอกชนประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ประมาณ 2,800 ตร.ม. (อาคารอินเตอร์) ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก พื้นที่ให้บริการของผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้า และพื้นที่ให้บริการทางด้านการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตรา

และ 2.การบริหารจัดการพื้นที่โดย ทอท.บนพื้นที่ประมาณ 3,100 ตร.ม. ประกอบด้วยร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free) ห้องพักรับรอง พื้นที่ให้บริการรับฝากกระเป๋า พื้นที่ให้บริการรถเช่า พื้นที่ให้บริการรถยนต์รับส่งผู้โดยสาร รถยนต์รับจ้างสาธารณะ รถแท็กซี่ พื้นที่ให้บริการเคาน์เตอร์รับสินค้าปลอดอากร (pick up counter) และพื้นที่สำหรับการให้บริการด้านการสื่อสาร

นอกจากนี้ ยังได้ทำโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติภูเก็ต ระยะที่ 2 (ปี 2561-2565) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการต่อทางขับขนานสาย P และขยายความยาวทางวิ่ง 27 เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากปัจจุบันที่รองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง พร้อมทั้งขยายหลุมจอดเพิ่มเป็น 28 หลุมจอด ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคน

ต่อปี ไม่เพียงเท่านี้ยังมีแผนจะดำเนินโครงการพัฒนา ระยะที่ 3 (2562-2568) ควบคู่ไปด้วย โดยจะปรับปรุงหลุมจอดเพิ่มเป็น 37 หลุมจอด การขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 25 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่ไกลไปอีกนิด ทาง ทอท.ได้พิจารณาแนวทางก่อสร้างสนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 (โคกกลอย จ.พังงา) สำหรับให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลักอีก 1 แห่งด้วย

จากแผนข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าประเทศไทยเราจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น “ภูเก็ต” ก็คงยังเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่อไป…