รื้อโครงสร้างบริหารจัดการน้ำ รับกฎหมายใหม่แก้วิกฤต “ท่วม-แล้ง” ยั่งยืน

หลังเกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และรัฐบาลสมัยนั้นเตรียมทุ่มเงินประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนใหญ่จะเน้นหนักในเขตลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมา แต่มีเสียงคัดค้านหนักจากหลายฝ่ายว่า แผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าวยังไม่เป็นระบบ การออกพระราชกำหนดกู้เงินมาดำเนินโครงการไม่โปร่งใส

ถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้สั่งยกเลิกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเวลา 20 ปีขึ้นใหม่ ตั้งเป้าแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ฯลฯ อย่างยั่งยืน โดยจะมีการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. มารองรับ เนื่องจากระยะหลังธรรมชาติมีความผันแปร ฝนตกหนัก หรือเกิดภาวะแล้งวิกฤตรุนแรงและค่อนข้างถี่ขึ้น

ม.44 ดึงกรมน้ำขึ้นตรงสำนักนายกฯ

การเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ปลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดหลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมในภาคอีสาน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ดึงกรมทรัพยากรน้ำ จากปัจจุบันอยู่ใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศโดยรวม ให้นายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สามารถสั่งการหน่วยงานนี้ได้โดยตรง

ขณะเดียวกัน นายกฯได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำ ไปหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้านน้ำกว่า 30 แห่ง เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานทั้งระบบ ก่อนจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 21-22 ส.ค.นี้

บริหารจัดการน้ำ 3 ระดับ

เป็นการดำเนินการรองรับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่สอง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เป็นเอกภาพ มีการกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็วางหลักเกณฑ์ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ และให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

กำหนดมาตรการในการรักษาทรัพยากรน้ำ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการตามพระราชบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ลด ยกเว้นค่าธรรมเนียม ออกประกาศ ระเบียบ คำสั่งตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ

กำหนดอำนาจของรัฐในการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ เปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือขยายพื้นที่แหล่งน้ำ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำ ฯลฯ กำหนดลุ่มน้ำ และองค์กรบริหารจัดการน้ำ 3 ระดับ คือ ระดับชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนายกฯ เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการ โดยให้กรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช. ระดับลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้นเป็นประธาน และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ให้ประชาชนในลุ่มน้ำรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำได้

จัดสรรน้ำให้ผู้ใช้น้ำ 3 ประเภท

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายใหม่ได้แบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณเป็น 3 ประเภท คือ 1.การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง เพื่อดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร หรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน 2.การใช้น้ำประเภทที่สอง เพื่อการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า ประปา หรือกิจการอื่น 3.การใช้น้ำประเภทที่สาม ใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยความเห็นชอบของ กนช. ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ อัตราค่าน้ำประเภทที่สอง และสาม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการเรียกเก็บค่าน้ำ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ

รับมือน้ำท่วม-น้ำแล้งระยะยาว

นอกจากนี้ บทบัญญัติกฎหมายใหม่ยังได้กำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโดยความเห็นชอบของ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ มีอำนาจประกาศกำหนดเขตภาวะน้ำแล้ง และกำหนดให้กิจการใดสามารถใช้น้ำได้ในปริมาณที่เห็นสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดน้ำแล้งรุนแรง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือการดำรงชีวิต ให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ประกาศเขตภาวะน้ำแล้งฉุกเฉิน และห้ามใช้น้ำบางประเภทที่เกินกว่าจำเป็นแก่การอุโภคบริโภค กำหนดวิธีแบ่งปันน้ำเพื่อบรรเทาภาวะน้ำแล้งได้

ส่วนกรณีน้ำท่วม ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันแก้ไขภาวะน้ำท่วมล่วงหน้า และอาจผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในที่ดินของบุคคลใด ๆ เพื่อสำรวจ ตรวจสอบ เก็บรวบรวมข้อมูลในการป้องกันแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้ง

ทีดีอาร์ไอหนุนตั้งแก้ปัญหาน้ำถาวร

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร แก้ปัญหาได้เกือบหมด ถือเป็นจุดสำคัญ นายกรัฐมนตรีทำได้เช่นนี้ถือว่าดี มิเช่นนั้นกฎหมายทรัพยากรน้ำที่จะออกมาจะทำไม่ได้

“ฉัตรชัย” แจงไม่ได้ยุบกรมชลประทาน

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยืนยันว่า โครงสร้างการบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่จะไม่มีการยุบกรมชลประทาน เข้าไปรวมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอย่างแน่นอน กรมชลประทานยังเป็นฝ่ายปฏิบัติ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นฝ่ายวางแผนและสั่งการลงมา เหมือนหน่วยงานอื่น ๆ ปฏิบัติตามที่บีโอไอสั่งการลงมา

“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ผู้บริหารสูงสุดเป็นข้าราชการระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง โดยจะมีโครงสร้างและบุคลากรของกรมทรัพยากรน้ำ ขึ้นมาทำหน้าที่หน่วยงานในการวางแผนงานด้านน้ำของประเทศ และมีหน่วยงานด้านปฏิบัติคือ กระทรวงและกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาดไทย”