แจงให้ชัด…เหตุใดต้องซื้อไฟแพง

บทบรรณาธิการ

 

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสตึงมนัม โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อผลิตไฟฟ้า และผันน้ำจากแม่น้ำสตึงมนัมมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กำลังถูกจับตามอง และตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่รัฐเร่งรัดผลักดันโครงการ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ตอบคำถาม และชี้แจงปมปัญหาที่สาธารณชนยังคาใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลกัมพูชาจะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในราคาสูงถึง 10.75 บาท/หน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราค่าไฟฐานที่ 2.60 บาท/หน่วย เท่ากับไทยต้องซื้อไฟฟ้าในราคาแพงกว่าค่าไฟฐานถึง 4 เท่าตัว

ไม่รวมข้อสงสัยอีกหลากหลายประเด็นที่ถูกมองว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล และมีข้อน่ากังขา อาทิ ความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนพัฒนาโครงการให้มีน้ำ กับกระแสไฟฟ้ารองรับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมใน EEC เมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะพลิกอนาคตประเทศ

สวนทางกับข้อมูลที่ชี้ชัดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออก ทั้งในส่วนของ กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ และเล็ก มีหนาแน่นเพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำจากนี้ไปอีก 5 ปี ปริมาณน้ำใน 5 เขื่อนชลประทานภาคตะวันออก บวกกับอ่างกักเก็บน้ำใหม่อีก 4 แห่งที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างมีเพียงพอหลัง 5 ปี ไปแล้วจึงอาจจำเป็นต้องหาน้ำแหล่งเพิ่มเติม

เป็นข้อมูลสองด้านที่ย้อนแย้งและต่างกันแทบตรงกันข้าม เสียงสะท้อนหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม ให้ กฟผ.รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากกัมพูชา ในราคาสูงถึง 10.75 บาท/หน่วย จึงมีออกมาในทำนองต้องการให้รัฐอธิบายชี้แจง และตอบคำถามกับสาธารณชนให้กระจ่างชัด

สำคัญที่สุดคือที่มาของต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าที่ตั้งราคาขายแพงมหาศาล แม้จะมีคำยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า กัมพูชาไม่คิดค่าน้ำ และยอมให้ไทยใช้น้ำจากเขื่อนดังกล่าวซึ่งจะถูกส่งผ่านอุโมงค์ผันน้ำมายังเขื่อนประแสร์ ปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรฟรี ๆ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า กัมพูชาบวกค่าน้ำรวมไว้ในค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าสตึงมนัม ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเพื่อยืนยันถึงความถูกต้อง โปร่งใส สาธารณชนจะได้หายข้องใจ และเชื่อมั่นได้ว่าหากโครงการนี้เดินหน้านอกจากประเทศชาติจะไม่เสียหายแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งน้ำอย่างคุ้มค่า