“ซี.พี.” แบ่งเค้ก “ไฮสปีดอีอีซี”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ประเสริฐ จารึก

น่าเร้าใจไม่น้อยหลัง “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ออกมาฉายภาพใหญ่การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เมกะโปรเจ็กต์รับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่จะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านระบบรถไฟระดับโลกจากอิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกา จีน ญี่ปุ่น มาร่วมปลุกปั้นรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย

แถมยังเตรียมจะลงทุนอีกหลายแสนล้านบาท เนรมิตที่ดิน 10,000 ไร่ในแปดริ้ว สร้างเมืองใหม่ใกล้รัศมีสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา

ประเมินจากท่าที “เจ้าสัว ซี.พี.” ดูแล้วเอาจริงที่จะช่วยรัฐบาล คสช.ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย

แม้การลงทุนครั้งนี้จะใช้เงินมหาศาลและมีความเสี่ยงสูงก็ตาม !

อย่างไรก็ตาม ด้วยเป็นโครงการมหึมา และไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย จึงต้องหาพันธมิตรทั้งไทยและเทศที่มีประสบการณ์มาช่วยปลุกปั้นโครงการให้แจ้งเกิด

ส่วนจะเป็นใคร มาลงทุนด้านไหน ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก จนกว่าจะถึงวันยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

แต่ก็เริ่มเห็นโฉมหน้าค่าตาพันธมิตรของกลุ่ม ซี.พี.จากชื่อเสียงเรียงนามที่ “เจ้าสัว ซี.พี.” เอื้อนเอ่ยออกมาผ่านสื่อ

ฝั่งยุโรปมี “อิตาลี-ฝรั่งเศส” ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ อาจจะเป็นเพราะไฟต์บังคับในทีโออาร์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดให้ใช้ระบบเป็นมาตรฐานของยุโรป จึงทำให้ ซี.พี.ต้องเลือกยักษ์รถไฟจากยุโรปมาร่วมขบวน

ล่าสุด “ซี.พี.” กำลังเจรจาต่อรองราคา จะเลือกใช้ระบบและประสบการณ์เดินรถ การบริหารจัดการ ระหว่าง “FS” บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี หรือ Ferrovie dello Stato Itailane S.p.A.ที่มีประสบการณ์ 180 ปี ด้านระบบขนส่งครบโหมดทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง ถนน ทางด่วน และเป็นรายเดียวในโลกที่มีผลกำไรจากการดำเนินการ

และ “SNCF” บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส มีประสบการณ์มากว่า 80 ปี ด้านบริหารจัดการรถไฟทุกระบบรวมถึงรถไฟความเร็วสูง แถมยังมี “ทรานส์เดฟ กรุ๊ป” บริษัทลูกที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถไฟไม่แพ้กันมาร่วมด้วย

ทางฝั่งเอเชียที่เจ้าสัว ซี.พี.เนมชื่อมี “จีน-ญี่ปุ่น” แต่น่าจะมีลุ้นมากสุดคือประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมีการบริหารจัดการด้านรถไฟความเร็วสูงครบถ้วนตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง การผลิตระบบ ขบวนรถและบริหารจัดการโครงการ

แต่ว่ากันว่างานนี้ “ซี.พี.” อาจจะใช้บริการ 7 บริษัทจากจีนที่ซื้อซองประมูล ในการออกแบบก่อสร้างและวางราง ไม่ว่าจะเป็น บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น บจ.ไชน่า รีเสอร์ซ โฮลดิ้งส์ บจ.ซิติก กรุ๊ป บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น

ส่วนขบวนรถถึงจีนจะผลิตได้หลากหลายสเป็กและหลากราคา แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดตัวรถที่ต้องใช้ร่วมกับโครงสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้โดยที่ไม่ต้องควักเงินลงทุนโมดิฟายใหม่ ทำให้ ซี.พี.ต้องพึ่งระบบรถของยุโรปที่มีขนาดไม่ถึง 3 เมตร ขณะที่รถจีนจะใหญ่กว่าอยู่ที่ 3.20 เมตร

ขณะนี้ที่ “ญี่ปุ่น” แม้ว่าภาคตะวันออกจะเป็นฐานธุรกิจใหญ่ แต่ด้วยระบบรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่ยังเป็นระบบปิด จึงทำให้รัศมีไม่ค่อยโดดเด่นมากนักในสมรภูมินี้

มาดูเอกชนจากไทยแลนด์ได้งานแน่ ๆ คือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพราะโครงการใหญ่ขนาดนี้ และระยะเวลาก่อสร้างค่อนข้างจำกัด ยังไงต้องใช้บริการรับเหมาหลายรายที่เป็นแถวหน้าของเมืองไทย

ส่วนผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทั้ง “BTS” ของ คีรี กาญจนพาสน์ และ “BEM” ของ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ก็มีลุ้นเป็นผู้โอเปอเรตโครงการเช่นกัน

เพราะถึงที่สุดแล้ว โครงการนี้อาจจะใช้บริการต่างชาติในการโอเปอเรตและบริหารจัดการโครงการแค่ช่วงระยะเริ่มต้น คงไม่ผูกขาดตลอดไป

นับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่ต้องอาศัยจังหวะนี้เรียนรู้เทคโนโลยี ซึมซับโนว์ฮาวจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มาพัฒนาประเทศต่อไปในระยะยาว