ผังเมือง (ใหม่) ชี้อนาคตกรุงเทพฯ

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่เตรียมประกาศใช้ในปลายปี 2562 ถือเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก “ผังเมืองรวม” ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง เพียงแต่นึกไม่ถึงกันเท่านั้น

ประการแรก ผังเมืองรวมเป็นตัวบ่งบอกถึงทิศทางการพัฒนาเมืองไปในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงสิ่งอื่น ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอนาคต ขนส่งมวลชน ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา สถานศึกษา บริการสาธารณสุข แม้แต่เรื่องขยะที่ท่วมเมืองอยู่ในเวลานี้

ปกติผังเมืองจะกำหนดเป็นโซนสีต่าง ๆ แต่ละสีบ่งบอกถึงขอบเขตการใช้พื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา

รวม ๆ แล้ว การปรับปรุงผังเมืองรวม หมายถึงการรีวิวโซนสีต่าง ๆ นั่นเอง เพียงแต่ความพิเศษการปรับปรุงผังเมืองครั้งนี้ถือเป็นการปรับใหญ่ เทียบกับที่ผ่านมา

สำนักผังเมือง กทม. ให้เหตุผลการปรับเปลี่ยนว่า…เนื่องจากการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ทุกสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ 6 จังหวัดปริมณฑลรอบ ๆ นับวันเติบโตขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการปรับโซนสีการใช้ที่ดิน อาทิ ศูนย์กลางของเมืองที่ขยายสุขุมวิทตอนต้นไปยังสุขุมวิทช่วงปลาย เช่นเดียวกับย่านคลองเตย ที่เวลานี้แปรสภาพเป็นกลางเมืองไปแล้ว

ในส่วนพระราม 9 ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นโซนสีน้ำตาลถูกเปลี่ยนให้เป็นสีแดง กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจเต็มตัว รวมถึงคลองสาน และถนนพระราม 1 ใกล้ ๆ จุฬาฯ ผังเมืองใหม่เปิดทางให้เกิด “สมาร์ทซิตี้” พื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์

หรือพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเส้นใหม่ ๆ สายสีเขียว ห้าแยกลาดพร้าวไปถึงรัชโยธิน ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) แนวเส้นทางสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จากที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

ที่สรุปข้างต้นเป็นเพียงไฮไลต์หลัก ๆ ผังเมืองรวม กทม.ฉบับปรับปรุงใหม่ยังรายมีละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีก อาทิ การให้โบนัสพิเศษเพิ่มเติมกับการพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ฯลฯ

รวม ๆ แล้วในเชิงธุรกิจ ผังเมืองจึงเป็นตัวชี้อนาคตมากมาย ถนนบางเส้น เดิมสร้างคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงานไม่ได้ กลายเป็นผังเมืองใหม่เปิดทางให้สร้างได้

เช่นเดียวกับพื้นที่ค้าปลีก หรือศูนย์การค้ายักษ์ ๆ แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพนี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง

ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์บ่อย ๆ ทำนองว่า ประเทศไทยมีปัญหาการบังคับใช้ผังเมืองมากที่สุด

นำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ตามมามากมาย การจราจรติดขัด น้ำท่วมขังหลังฝนตก เนื่องจากถนน ระบบท่อระบายน้ำ ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน รวมถึงคอนโดมิเนียม-ที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด

เช่นเดียวกับเสียงติติงที่ว่า “ผังเมือง” เป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายกรุงเทพมหานคร จากเมืองหลวงที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นเป็นของตัวเอง กลายเป็นป่าคอนกรีต

รวมถึงคำครหาที่ตามมาตลอดว่า ทุกครั้งที่มีการปรับโซนสีผังเมืองจะมีเงาร่างของกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง และมักได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเสมอ

จริง ๆ แล้วโดยส่วนตัวไม่อยากตั้งความหวังกับการแก้ไขผังเมืองครั้งนี้มากนัก ขอเพียงอย่าให้กรุงเทพมหานคร บอบช้ำไปมากกว่านี้ก็พอ